นักวิจัยทดลองนำแบคทีเรียจากลำไส้หนอนกินพลาสติกออกมาใช้ย่อยพลาสติกแบบไม่ต้องง้อหนอนอีกต่อไป
วันที่ 27 มีนาคมที่ผ่านมา เว็บไซต์ TNN Tech รายงานผลการทดลองของมหาวิทยาลัยหนานยาง ประเทศสิงคโปร์ ที่นำกลุ่มแบคทีเรียจากลำไส้หนอนกินพลาสติกออกมาเพาะเลี้ยงในสภาวะเลียนแบบลำไส้หนอน และพบว่าการย่อยพลาสติกด้วยแบคทีเรียกลุ่มนี้โดยตรงมีประสิทธิภาพกว่าวิธีการให้หนอนกินพลาสติก
หนอน Zophobas atratus เป็นหนอนของด้วงดำหรือด้วงขี้ไก่ เป็นหนอนอาหารนกที่พบได้ทั่วไปในร้านขายอาหารสัตว์ หนอนชนิดนี้สามารถกินพลาสติกได้ และถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการศึกษาวิจัยเพื่อแก้ปัญหาเรื่องขยะพลาสติก แต่ปัญหาอย่างหนึ่งคือ อัตราการกินพลาสติกของหนอน 1 ตัวตลอดช่วงเวลาของการเป็นหนอนนั้น ทำได้เพียง 2 ไมโครกรัม ซึ่งนับว่าน้อยมาก ดังนั้นเราต้องใช้หนอนจำนวนมากแค่ไหนจึงจะช่วยกินขยะพลาสติกจำนวนมหาศาลได้ ยังไม่นับการต้องคอยดูแลความเป็นอยู่ให้แก่หนอนเหล่านี้ นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทีมวิจัยเจาะไปที่ “แบคทีเรีย”ในลำไส้หนอนซึ่งเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้หนอนกินพลาสติกได้นั่นเอง
ในงานวิจัยนี้ ได้แยกแบคทีเรียจากลำไส้หนอนออกมาเลี้ยงในขวดแก้วที่มีอาหารเหลวสังเคราะห์ในสภาวะควบคุม โดยแบ่งออกแบคทีเรียออกเป็น 3 กลุ่ม แต่ละกลุ่มต่างได้รับพลาสติกต่างชนิดไปทดลองย่อย หลังจาก 30 วันผ่านไป ผลปรากฎว่า กลุ่มแบคทีเรียเหล่านี้ต่างก็เพิ่มจำนวนขึ้น และที่น่าสนใจคือ กลุ่มแบคทีเรียจากการเพาะเลี้ยงนี้ ย่อยสลายพลาสติกได้เร็วกว่าการให้หนอนกิน และยังมีความจำเพาะเจาะจงกับชนิดของพลาสติกด้วย ซึ่งต่างจากแบคทีเรียดั้งเดิมที่อยู่ในลำไส้หนอน จึงนับเป็นข่าวดีที่เราอาจได้เทคนิคเพิ่มศักยภาพวิธีการย่อยสลายพลาสติกให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นไปอีก
แหล่งที่มาของข่าว
https://www.tnnthailand.com/news/tech/163667/
https://www.youtube.com/watch?v=kLhO_zVk9Uc&t=37s