กรมอุตุนิยมวิทยา รายงานเหตุแผ่นดินไหว ณ ตำบลอ่างทอง อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ช่วงเช้าวันที่ 30 พ.ค. 2567 วัดขนาดได้ 2.4 ชาวบ้านแจ้งรู้สึกบ้านเรือนสั่นสะเทือน พบสัญญาณกันขโมยรถดังลั่น ด้านกรมทรัพยากรธรณีเผยสาเหตุเกิดจากการเคลื่อนตัวของหินแกรนิตใต้เปลือกโลก
วันที่ 30 พฤษภาคม 2567 เวลา 08.24 นาฬิกา ที่ผ่านมา กองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา รายงานว่าเกิดแผ่นดินไหวขนาด 2.4 โดยมีจุดเหนือศูนย์เกิดแผ่นดินไหวอยู่ที่ตำบลอ่างทอง อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งเกิดลึกลงไปใต้ดิน 4 กิโลเมตร สร้างการรับรู้แรงสั่นสะเทือนเป็นวงกว้าง ซึ่งชาวบ้านในอำเภอเกาะสมุยและอีกหลายจุดระบุว่า รู้สึกถึงแรงสั่นสะเทือน บ้านสั่น ได้ยินเสียงดังเหมือนระเบิดเกิดขึ้น และมีเสียงสัญญาณกันขโมยรถดังขึ้นโดยรอบ เบื้องต้นยังไม่มีรายงานความเสียหายเกิดขึ้น อย่างไรก็ดี จังหวัดสุราษฎร์ธานีมีกลุ่มรอยเลื่อนคลองมะรุ่ย ซึ่งเป็นรอยเลื่อนมีพลังที่ยังคงต้องเฝ้าระวัง
อ้างอิงข้อมูลจากรายงานข่าวของสำนักข่าวไทยพีบีเอส กล่าวโดยนายสมศักดิ์ วัฒนปฤดา ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่ปรึกษาทางการบริหารจัดการทรัพยากรธรณีให้ความเห็นว่า แผ่นดินไหวครั้งนี้ไม่ได้เกิดบนแนวรอยเลื่อน แต่สาเหตุเกิดจากการเลื่อนตัวของหินแกรนิตฐานที่ลึกลงไปเกิดการขยับตัว ซึ่งสาเหตุของปัจจัยที่ทำให้หินแกรนิตฐานใต้พื้นดินที่ลึกลงไป 4-5 กม.มีการขยับตัวจนเกิดแผ่นดินไหวครั้งนี้ ส่วนหนึ่งอาจเกิดจากกระแสน้ำใต้ดินจากธรรมชาติ เหมือนกับหินผุ
แผ่นดินไหวขนาด 2.4 ถือว่าเป็นขนาดการสั่นไหวเล็กน้อย มนุษย์เริ่มรับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนได้ที่ระดับนี้ บางครั้งอาจเกิดอาการเวียนศีรษะเนื่องจากการโคลงเคลงของพื้น โดยปกติแล้วสถิติแผ่นดินไหวทั่วโลกขนาด 2-3 นั้นเกิดขึ้นบ่อยครั้งเฉลี่ย 100,000 ครั้ง/ปี
กลุ่มรอยเลื่อนคลองมะรุ่ยที่สุราษฎร์ธานีนี้เป็นหนึ่งในรอยเลื่อนมีพลัง (Active fault) ซึ่งหมายถึง รอยเลื่อนของเปลือกโลกที่พบว่ายังคงมีการขยับตัวไปมาในช่วงไม่เกิน 10,000 ปีนี้ โดยทั่วไปแล้วใต้พื้นโลกเรามีความร้อนและความดันมหาศาลซึ่งมักจะเกิดการปลดปล่อยพลังงานเหล่านั้นออกมาในบริเวณรอยแยกตามพื้นโลกอยู่เสมอ และอาจดันให้รอยเลื่อนต่าง ๆ ขยับตัว ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดแรงสั่นสะเทือนขึ้นมาได้ การเกิดแผ่นดินไหวในธรรมชาติทั่วโลกมักจะเกิดขึ้นตามแนวรอยเลื่อนที่ยังคงมีพลังนี้
แหล่งที่มาของข่าว
- ศูนย์ปฎิบัติการธรณีพิบัติภัย กรมทรัพยากรธรณี
- https://earthquake.tmd.go.th/inside-info.html?earthquake=12034&fbclid=IwZXh0bgNhZW0CMTAAAR3xNCJT7mEWlpVuD_0jcE0rIsYM0qC1pHHEeIK6pBS6XUygZd-HSRp7KEo_aem_ZmFrZWR1bW15MTZieXRlcw
- https://thaipublica.org/2012/06/why-earthquakes-occur-frequently/
ผู้เรียบเรียง
ณฐพรรณ พวงยะ
นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ