คอนเสิร์ตเทย์เลอร์ สวิฟต์ สร้างปรากฏการณ์ "แผ่นดินไหวจากแฟนเพลง"
Science News Categories
Publish date
10/07/2024
Image
1

คอนเสิร์ตของเทย์เลอร์ สวิฟต์ ที่สนามลูเมน ฟิลด์ เมืองซีแอตเทิล สหรัฐอเมริกา ในวันที่ 22 และ 23 กรกฎาคม 2566 สร้างแรงสั่นสะเทือนจนเครื่อง accelerometer ที่อยู่ใกล้เคียงกับสนามกีฬาสามารถบันทึกไว้ได้ โดยรูปแบบการสั่นสะเทือนมีความคล้ายคลึงกันทั้งสองวัน สอดคล้องกับชุดเพลงที่เหมือนกัน

 

งานวิจัยเมื่อเดือนพฤษภาที่ผ่านมา เปิดเผยผลการศึกษาที่น่าสนใจจากการเก็บผลการสั่นสะเทือนของพื้นดิน จึงนำมาวิเคราะห์ผลพบว่าช่วงเวลาดังกล่าวตรงกับคอนเสิร์ตของเทย์เลอร์ สวิฟต์ ทั้ง 2 วัน แม้จะเป็นคนละคืน แต่รูปแบบของคลื่นความถี่ที่เครื่องตรวจวัดจับได้มีความคล้ายคลึงกันมาก ซึ่งสอดคล้องกับการที่ศิลปินเล่นเพลงชุดเดิมทั้งสองวัน รูปแบบการสั่นสะเทือนของพื้นดินถูกบันทึกออกมาเป็นกราฟความถี่ต่ำและความถี่สูง ที่แสดงให้เห็นชัดเจนว่า บทเพลงแต่ละเพลงมีความแตกต่างชัดเจน โดยคลื่นความถี่ต่ำช่วงแคบ ๆ จะตรงกับจังหวะของแต่ละเพลงที่ทำการแสดง แต่ขณะที่บันทึกสัญญาณระหว่างการซาวด์เช็คนั้นแทบจะไม่มีพลังงานความถี่ต่ำเลย แสดงว่าพลังงานความถี่ต่ำน่าจะเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวที่สอดคล้องกันของกลุ่มคนที่กำลังกระโดดเต้น ส่วนสัญญาณความถี่สูงจะปรากฏเฉพาะในเพลงที่มีการบรรเลงของวงดนตรีเต็มรูปแบบเท่านั้น ไม่ได้ปรากฏในเพลงที่เทย์เลอร์ สวิฟต์ ร้องเดี่ยวแบบอะคูสติก

 

แรงสั่นสะเทือนจากกิจกรรมเหล่านี้แตกต่างจากแผ่นดินไหว โดยทั่วไปแผ่นดินไหวจะเกิดขึ้นเพียงไม่กี่วินาที ในขณะที่ "แรงสั่นสะเทือนจากคอนเสิร์ต" อาจเกิดขึ้นนานหลายนาที และการเดินทางของคลื่นในพื้นดินระหว่างแผ่นดินไหวและคอนเสิร์ตก็มีความแตกต่างกัน โดยแผ่นดินไหวเกิดขึ้นเมื่อเปลือกโลกขนาดใหญ่ที่เรียกว่า "แผ่นเปลือกโลก" เคลื่อนที่ ซึ่งการเคลื่อนที่เหล่านั้นส่งผลให้พื้นดินเปลี่ยนแปลงไปอย่างถาวร แต่แรงสั่นสะเทือนที่เกิดจากกลุ่มคนมักจะไม่ส่งผลต่อการเปลี่ยนรูปของโลก การใช้ข้อมูลทางธรณีวิทยาเพื่อศึกษาดูพฤติกรรมของกลุ่มคนนั้นชี้ให้เห็นว่า สัญญาณจากระบบเสียง เสียงสะท้อนภายในสนามกีฬา และการเคลื่อนไหวของกลุ่มคน ล้วนส่งผลต่อกัน อีกทั้งยังเป็นการค้นพบครั้งใหม่ที่ชี้ว่า สัญญาณความถี่ต่ำและสูงนั้น เกิดจากแหล่งกำเนิดที่แตกต่างกัน ซึ่งไม่เคยมีการรายงานมาก่อนในกรณีของแรงสั่นสะเทือนที่เกิดจากคอนเสิร์ต

 

อ้างอิง

  1. J. Caplan-Auerbach, K. Marczewski and G. S. Bullock. Beast Quake (Taylor’s Version): Analysis of seismic signals recorded during two Taylor Swift concerts in Seattle, July 2023. GSA Today. Vol. 34, May 2024, p. 4. doi: 10.1130/GSATG589A.1.
  2. Ware, Skyler. Earthquake sensor: Taylor Swift fans ‘Shake It Off’, Science News Explores. May 3, 2024. https://www.snexplores.org/article/taylor-swift-fans-shake-seismic-waves
  3.  
Created by
เรียบเรียงโดย ศักดิ์ชัย จวนงาม นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ ศูนย์พัฒนาความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์แห่งชาติ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ