รักษ์โลกแล้วอย่าลืมรักสะอาด ขวดน้ำใช้ซ้ำทำป่วยได้
Science News Categories
Publish date
21/03/2025
Image
1

พบแบคทีเรียปนเปื้อนในขวดน้ำใช้ซ้ำจากพฤติกรรมเจ้าของขวด

 

วันที่ 17 มีนาคม 2568 เว็บไซต์ BBC  รายงานข้อมูลการศึกษาความสะอาดของขวดน้ำใช้ซ้ำจากกลุ่มตัวอย่างของผู้สัญจรไปมา โดยผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยอาหารและทีมงานจากมหาวิทยาลัยเพอร์ดู รัฐอินเดียนา สหรัฐอเมริกา พบว่า ขวดน้ำเหล่านั้นเต็มไปด้วยเชื้อแบคทีเรีย ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มแบคทีเรียที่พบในทางเดินอาหารและอุจจาระ แต่สิ่งที่สร้างความประหลาดใจคือ เจ้าของขวดน้ำไม่อยากทราบผลการตรวจ ผู้วิจัยคาดว่า พวกเขาอาจรู้อยู่แล้วเพียงแต่ไม่อยากได้หลักฐานยืนยัน

จากประเด็นดังกล่าว ผู้เชี่ยวชาญด้านจุลชีววิทยาคลินิกของมหาวิทยาลัยเลสเตอร์ สหราชอาณาจักร ได้ออกมาอธิบายสาเหตุว่า จริง ๆ แล้วน้ำดื่มที่กรอกเติมใส่ขวดนั้นไม่ได้ปราศจากเชื้อจุลินทรีย์มาตั้งแต่แรก แม้จะนำไปต้มก่อนก็ตาม ดังนั้นแค่วางขวดที่มีน้ำไว้สองสามวันก็ทำให้แบคทีเรียเจริญเติบโตเพิ่มจำนวนได้แล้ว โดยเฉพาะการวางไว้ที่อุณหภูมิตั้งแต่ 20-37 องศาเซลเซียส  ทั้งนี้พบว่าปริมาณแบคทีเรียในน้ำเพิ่มจาก 7,500 เซลล์ต่อมิลลิลิตรเป็น 1-2 ล้านเซลล์ต่อมิลลิลิตรได้ภายใน 24 ชั่วโมง นอกจากนี้แล้ว แบคทีเรียสะสมในขวดยังมาจากปาก น้ำลาย ของผู้ดื่มอีก ส่วนขวดด้านนอกก็ปนเปื้อนด้วยเชื้อแบคทีเรียจากมือ จากสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ที่ขวดไปสัมผัส

อย่างไรก็ตามผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่า ระหว่างที่เราไม่ได้ดื่มน้ำจากขวดใช้ซ้ำ ก็ควรเก็บขวดน้ำไว้ในตู้เย็นเพื่อชะลอการเติบโตของแบคทีเรีย ควรล้างขวดให้บ่อยครั้งด้วยแปรงหรือเครื่องล้าง หากภายในขวดน้ำมีคราบลื่น ๆ ควรล้างด้วยน้ำร้อนหรือแช่น้ำยาล้างจานไว้สัก 10 นาที ก่อนล้างด้วยน้ำร้อน แล้วต้องผึ่งให้แห้งเป็นขั้นตอนสุดท้ายทุกครั้ง  ทั้งนี้ยังมีคำเตือนว่า ควรหลีกเลี่ยงการใช้ขวดน้ำร่วมกัน เพราะไม่มีการรับประกันว่าเชื้อแบคทีเรียที่ไม่ก่อโรคในผู้อื่นจะไม่ก่อโรคกับเราด้วย หรือกรณีผู้ที่กำลังกินยาปฏิชีวนะอยู่ก็อาจมีความอ่อนไหวจากเชื้อแบคทีเรียของผู้อื่นจนเกิดอาการท้องร่วงรุนแรงได้

 

1

 

อ้างอิง

https://www.bbc.com/future/article/20250317-how-often-should-you-clean-your-water-bottle-and-what-is-the-best-way

 

Created by
เรียบเรียงโดย วารี อัศวเกียรติรักษา กองสื่อสารวิทยาศาสตร์ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ