standard
ในช่วงก่อนที่ฝนจะตกลงมานั้น เรามักจะได้กลิ่นที่พัดมากับลม ซึ่งคนทั่วไปมักจะเรียกกลิ่นนี้ว่า กลิ่นฝน แต่ในความเป็นจริงแล้วกลิ่นนั้นก็คือกลิ่นของ โอโซน (Ozone : O3) ที่เกิดจากการเคลื่อนที่ของประจุไฟฟ้าในก้อนเมฆขณะเกิดฟ้าแลบหรือฟ้าผ่า ทำให้โมเลกุลของก๊าซออกซิเจน (O2) ในอากาศ แตกตัวเป็นอะตอมเดี่ยวของออกซิเจน (O) และไปรวมตัวกับก๊าซออกซิเจนโมเลกุลอื่น ๆ (O2) กลายเป็น โอโซน (O3) ทำให้เราได้รับกลิ่นของมันในช่วงเวลาก่อนฝนตก และในระหว่างที่ฝนตกหรือหลังฝนตกนั้น เราจะได้กลิ่นไอดิน นักวิทยาศาสตร์เรียกชื่อกลิ่นที่เกิดในช่วงฝนตกนี้ว่า เพทริคอร์ (Petrichor) ซึ่งไม่ใช่กลิ่นของดินที่ผสมรวมกับน้ำฝน แต่เป็นกลิ่นของสารหอมระเหยที่เรียกว่า จีออสมิน (Geosmin) ที่สร้างขึ้นโดยแบคทีเรียสกุล สเตรปโตมัยซิส (Streptomyces) ซึ่งพบอยู่มากมายตามพื้นดิน เมื่อเม็ดหยดฝนตกลงมากระทบกับดิน จะส่งผลให้สปอร์ของแบคทีเรียลอยขึ้นไปในอากาศพร้อมโมเลกุลจีออสมิน โดยมนุษย์สามารถรับกลิ่นเฉพาะนี้ได้อย่างรวดเร็ว เพราะมนุษย์มีความไวต่อกลิ่นนี้เป็นพิเศษ แม้จะมีโมเลกุลจีออสมินในอากาศเพียงห้าในล้านส่วน (5 ppm) ก็ตาม นอกจากกลิ่นของจีออสมินแล้ว น้ำฝนที่ตกลงมานี้ยังช่วยกระตุ้นกลิ่นต่างๆ ออกมาจากพืชบางชนิดได้อีกด้วย เพราะพืชบางชนิดผลิตน้ำมันและหลั่งออกมาเพื่อชะลอการงอกของเมล็ด ไม่ให้งอกในช่วงหน้าแล้งที่ดินขาดน้ำ รวมถึงชะลอกิจกรรมภายในเซลล์ไว้ในช่วงที่ต้นพืชขาดน้ำหรือช่วงแห้งแล้ง ดังนั้น เมื่อฝนตกน้ำฝนจึงชะเอาน้ำมันนี้ออกมาผสมกับน้ำฝน เกิดเป็นกลิ่นที่สดชื่นให้เราได้รับรู้กันผ่านทางจมูก กลิ่นที่มาพร้อมกับชีวิตใหม่ที่รอวันที่จะได้ผลิใบและเติบโตต่อไป
ไอดิน กลิ่นฝน มาแต่หนใด
Expired date