งูเขียวหางไหม้ชนิดใหม่ของไทย
Science News Categories
Publish date
29/03/2024
Image

วันที่ 27 มีนาคม 2567 วารสารวิชาการ European Journal of Taxonomy ได้เผยแพร่งานวิจัย การค้นพบงูเขียวหางไหม้ชนิดใหม่ ที่อาศัยอยู่บริเวณเขาหินปูนบริเวณคอคอดกระ ในคาบสมุทรของประเทศไทย นำทีมโดยนักวิจัยจากรัสเซีย ร่วมด้วยทีมวิจัยจากหลากหลายประเทศทั้งเวียดนาม ฝรั่งเศส เยอรมนี และประเทศไทย โดยงานวิจัยนี้ได้ทำการมุ่งเน้นในสกุลงูเขียวหางไหม้ Trimeresurus โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มชนิดพันธุ์ทับซ้อนของงูหางแฮ่มกาญจนบุรี Trimeresurus kanburiensis ที่มีความหลากหลายและมีการกระจายตัวตามเขาหินปูนตั้งแต่ภาคตะวันตกของประเทศไทยไปจนถึงภาคใต้ของประเทศไทย

คณะนักวิจัยเล็งเห็นว่าถึงแม้งูหางแฮ่มกาญจนบุรี Trimeresurus kanburiensis จะมีการกระจายตัวกว้าง แต่ในแต่ละพื้นที่กลับมีลักษณะสัณฐานวิทยาที่แตกต่างกัน และมีการตั้งข้อสันนิษฐานว่างูในกลุ่มนี้ยังมีชนิดพันธุ์ทับซ้อนกันอยู่ จึงได้ทำการวิจัยกลุ่มงูตัวอย่างจาก ถ้ำสนุก อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร เปรียบเทียบกับงูในสกุล Trimeresurus ชนิดอื่น ทั้งลักษณะทางสัณฐานวิทยา และลำดับดีเอ็นเอ จนได้พบว่างูจากชุมพรนี้เป็นงูชนิดใหม่ โดยมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Trimeresurus kraensis โดยมีความหมาย หมายถึงงูเขียวหางไหม้จากบริเวณคอคอดกระ หรือ Kra Isthmus Pitviper และได้ตั้งชื่อภาษาไทยให้กับมันว่า “งูหางแฮ่มชุมพร” (ภาพที่ 1)นับเป็นงูเขียวหางไหม้ชนิดใหม่ของประเทศไทยจากกลุ่มชนิดพันธุ์ทับซ้อนของ Trimeresurus kanburiensis ที่มีการจัดจำแนกเป็นชนิดใหม่มาอย่างต่อเนื่อง โดยก่อนหน้านี้ได้มีการจำแนกชนิดใหม่ของงูในกลุ่มนี้มาแล้วเช่น งูหางแฮ่มกุยบุรี Trimeresurus kuiburi Sumontha et al., 2021 จากจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ หางไหม้เขาหินปูน Trimeresurus ciliaris  Idiiatullina et al., 2023  จากจังหวัดตรัง และล่าสุดงูหางแฮ่มชุมพร Trimeresurus kraensis จากจังหวัดชุมพร (ภาพที่ 2)

 

1

 

ภาพที่ 1 ภาพตัวอย่างต้นแบบของ Trimeresurus kraensis  A. ภาพด้านหลังและด้านข้าง B. ภาพด้านท้องและด้านข้าง C. ภาพเกล็ดด้านข้างลำตัว D. ภาพด้านซ้ายของหัวงู E. ภาพด้านหลังของหัวงู F. ภาพด้านท้องของหัวงู

 

 

1

ภาพที่ 2 ภาพเปรียบเทียบลักษณะและสีสันของกลุ่มงูเขียวหางไหม้ในกลุ่มชนิดพันธุ์ซ่อนเร้นของงูหางแฮ่มกาญจนบุรี Trimeresurus kanburiensis (เพศผู้)  A. งูหางไหม้เขาหินปูน Trimeresurus ciliaris  Idiiatullina et al., 2023  จากจังหวัดตรัง.  B. งูหางแฮ่มกาญจนบุรี Trimeresurus kanburiensis Smith, 1943 จากจังหวัดกาญจนบุรี  C. งูหางแฮ่มชุมพร Trimeresurus kraensis จากจังหวัดชุมพร D. งูหางแฮ่มใต้ Trimeresurus cf. venustus Vogel, 1991 จากเกาะลังกาวี ประเทศมาเลเซีย E. งูหางแฮ่มกุยบุรี Trimeresurus kuiburi Sumontha et al., 2021 จากจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ F. Trimeresurus venustus จากจังหวัดกระบี่ ภาพถ่ายโดย P. Pawangkhanant (A–C, F), T. Chalton (D), and T. Woranuch (E).

 

แหล่งที่มาของข่าว

Idiiatullina, S. S., Pawangkhanant, P., Suwannapoom, C., Tawan, T., Chanhome, L., Nguyen, T. V., David, P., Vogel, G., & Poyarkov, N. A. (2024). Another new species of karst-associated pitviper (Serpentes, Viperidae: Trimeresurus) from the Isthmus of Kra, Peninsular Thailand. European Journal of Taxonomy, 930(1), 20–52. https://doi.org/10.5852/ejt.2024.930.2489

Created by
ณฐพรรณ พวงยะ นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ