Submitted by NSM Content Admin on 7 February 2025
BLOCKCHAIN
Published Date
Image

BLOCKCHAIN

นวัตกรรมกระจายความเชื่อมั่น

 

กำเนิดจากวิกฤต

นับพันๆ ปีมาแล้วที่ เงินตรา ใบสัญญา เอกสารระบุตัวตนอย่างบัตรประชาชน หรือเอกสารสำคัญอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นสูติบัตร วุฒิการศึกษา บันทึกสุขภาพ ประวัติสินเชื่อ ฯลฯ ของใครสักคนจะอยู่ในรูปเอกสารกระดาษที่ต้องลงนามรับรองโดยเจ้าของหรือผู้มีอำนาจ เพื่อยืนยันว่านี่คือเอกสารจริงที่นำไปใช้อ้างอิงได้  

และถึงแม้โลกจะเปลี่ยนผ่านมาสู่การใช้ไฟล์ดิจิทัลและการส่งข้อมูลผ่านเครือข่ายออนไลน์ แต่ความน่าเชื่อถือของเอกสารก็ยังคงเป็นข้อจำกัด  เราจะเชื่อมั่นว่านี่ไม่ใช่เอกสารปลอมก็ต่อเมื่อส่งถึงกันแบบหนึ่งต่อหนึ่งระหว่างเจ้าของกับผู้รับเท่านั้น รวมทั้งอาจต้องลงนามรับรองกันอีกครั้งเสียด้วย ไม่ว่าจะเป็นลายเซ็นดิจิทัลหรือลายเซ็นจริงก็ตาม

แต่แล้วจุดเปลี่ยนก็มาถึง เมื่อเกิดกรณีฉ้อโกงของสถาบันการเงินในสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2551 ก่อผลกระทบเป็นวิกฤตเศรษฐกิจที่เรียกว่า “วิกฤตซัลไพรม์” สร้างความไม่เชื่อมั่นในสถาบันการเงินอย่างมาก จนกลายเป็นจุดกำเนิดของแนวคิดสกุลเงินดิจิทัลเข้ารหัส  (Cryptocurrency) ที่เรียกว่า “บิตคอยน์” (Bitcoin) ซึ่งวางรากฐานอยู่บนเทคโนโลยีที่เรียกว่า “บล็อกเชน” (Blockchain)  

มาถึงปัจจุบัน สกุลเงินดิจิทัลได้เกิดขึ้นหลายชนิด เช่น Ethereum, Binance, Dogecoin ฯลฯ และแม้สกุลเงินดิจิทัลจะมีมูลค่าผันผวนสูง แต่ในส่วนเทคโนโลยีบล็อกเชนเองยังได้รับความเชื่อมั่นอย่างมากว่าจะประยุกต์ใช้กับกิจกรรมมากมายที่เกี่ยวข้องกับเอกสาร (หรือไฟล์ หรือธุรกรรม) ที่ต้องการความเชื่อถือ ทำให้การรับรองที่เคยมีขั้นตอนมากมายและเชื่องช้าหมดสิ้นไป โดยทุกๆ คนที่เกี่ยวข้องสามารถเข้าถึงและรับรองเอกสารนั้นโดยไม่ต้องผ่าน “คนกลาง”

นั่นหมายความว่า กิจกรรมระหว่างผู้คนในสังคมแต่ละวันจะสำเร็จลงในเวลาอันรวดเร็วกว่าเดิมหลายสิบเท่า พร้อมกับการรับประกันว่าจะไม่มีใครถูกหลอกด้วยเอกสารปลอมหรือหลักฐานปลอมอีกต่อไป (?)

 

“มันคือระบบกระจายอำนาจอย่างสมบูรณ์”

Satoshi Nakamoto

นามแฝงของผู้เขียนเอกสารเสนอทฤษฎีและโครงสร้างของบิตคอยน์

ถึงขณะนี้ยังไม่ทราบตัวตนที่แท้จริงของ “ซาโตชิ นากาโมโตะ”

 

นวัตกรรมที่ยังเพิ่งเริ่มต้น

บล็อกเชนใช้อินเทอร์เน็ตเป็นระบบโครงข่ายดิจิทัลสาธารณะที่มีหน่วยประมวลผลจากทั่วทุกมุมโลก ข้อมูลหรือธุรกรรมที่ต้องการสร้างจะถูกเข้ารหัสด้วยสูตรคณิตศาสตร์และสร้างเป็นบล็อก (block) ส่งเข้าไปในโครงข่ายให้ทุกคนเห็น จากนั้นหน่วยประมวลผลในระบบจะคำนวณเพื่อยืนยัน หากได้รับการยืนยันจากหน่วยประมวลผล  ข้อมูลจะได้รับการสร้างเป็นบล็อกข้อมูลที่นำไปต่อกับบล็อกข้อมูลก่อนหน้าในห่วงโซ่ของบล็อกข้อมูลที่ได้รับการยืนยัน (อันที่มาของชื่อบล็อกเชน) ซึ่งจะเก็บบันทึกข้อมูลธุรกรรมต่างๆ ตั้งแต่บล็อกแรกที่เริ่มใช้งานระบบจนถึงบล็อกล่าสุด โดยเปิดให้ทุกคนเข้าไปตรวจสอบได้ ทำให้เป็นระบบที่โปร่งใสและน่าเชื่อถือ เพราะยากต่อการแก้ไขข้อมูลที่เก็บในเครื่องทุกเครื่องพร้อมกัน

                ในการสร้างสกุลเงินดิจิทัลเข้ารหัส คอมพิวเตอร์ที่ทำหน้าที่เข้ารหัสและประมวลผลยืนยันธุรกรรมเพื่อสร้างบล็อกข้อมูลต่อเข้าห่วงโซ่บล็อก เรียกว่านักขุดเหมือง เพราะเครื่องที่ทำหน้าที่สำเร็จก่อนเครื่องอื่นจะได้รับเงินสกุลดิจิทัลเป็นค่าตอบแทน

                เมื่อเทียบกับพัฒนาการของนวัตกรรมอื่นๆ ในอดีตที่ผ่านมา บล็อกเชนอาจยังอยู่ในระยะก้าวแรกของการเติบโต ซึ่งต้องผ่านด่านการทดสอบ เรียนรู้จากความผิดพลาดเพื่อพัฒนายกระดับเทคโนโลยีขึ้นไป จนกว่าจะบรรลุศักยภาพสูงสุดที่นวัตกรรมนี้สามารถมอบให้แก่โลก

 

ผลกระทบเชิงบวก

·        ลดความผิดพลาดหรือฉ้อฉล และความซับซ้อนของมนุษย์ที่เกี่ยวข้องในธุรกรรมหรือกิจกรรม

·        เกิดการพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง (Central Bank Digital Currency, CBDC) แข่งกับสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยเอกชน เพื่อให้เป็นสื่อกลางที่มีเสถียรภาพแทนเงินได้จริงๆ

·        การประยุกต์ใช้ในกิจกรรมหรือธุรกรรมในชีวิตประจำวัน เช่น

§  เจ้าของสินทรัพย์ดิจิทัล เช่น ผลงานศิลปะดิจิทัล ด้วยการใช้นวัตกรรมเหรียญ Non-Fungible Tokens หรือ NFT

§  สัญญาอัจฉริยะ (smart contract) ทั้งสัญญาซื้อขายที่ลดความไม่ไว้วางใจระหว่างผู้สั่งซื้อกับผู้ขายสินค้า หรือสัญญาเงินกู้ที่ลดขั้นตอนการส่งต่อข้อมูลกันหลายทอด 

§  การยืนยันตัวตนและฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร์เพื่อลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง หรือตรวจสอบประวัติบุคคล การจ้างงาน ประวัติอาชญากรรม ข้อมูลด้านสุขภาพ ฯลฯ 

§  การดูแลความเป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญา การติดตามประวัติของทรัพย์สินหรือวัตถุดิบต่างๆ ฯลฯ

 

ผลกระทบเชิงลบ

·        การพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลเข้ารหัสเพื่อหลอกลวงนักลงทุน จนเกิดผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ

·        ระบบโครงข่ายบล็อกเซนที่ต้องอาศัยหน่วยประมวลผลกำลังสูงและจำนวนมาก ต้องใช้พลังงานไฟฟ้าปริมาณสูงมากและกลายเป็นแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มีสัดส่วนมากขึ้นเรื่อยๆ ต่อการสร้างปัญหาภาวะโลกร้อน

·        การโจมตีอัลกอริทึมของบล็อกเชนยังมีโอกาสและความเป็นไปได้ ซึ่งหากเกิดขึ้นจะทำให้ความน่าเชื่อถือของระบบล่มสลาย

 

แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม

[1] https://www.finnomena.com/coinman/blockchain/

[2] https://dgti.dga.or.th/wp-content/uploads/2021/02/Blockchain-V2.pdf

[3] https://www.technologyreview.com/2018/04/23/143477/explainer-what-is-a-blockchain/

 

#DisruptiveTechnology

#Blockchain #บล็อกเซน

#Bitcoin #บิตคอยน์

#Cryptocurrency #สกุลเงินดิจิทัล     

#CuriosityWINS

#ดินแดนแห่งการค้นพบความมหัศจรรย์ของวิทยาศาสตร์

#พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ #ITMuseumThailand

#องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ #อพวช #NSMThailand

Science Knowledge Type
Picture