งานวิจัยล่าสุดบ่งชี้ 15 ปัจจัยเพิ่มความเสี่ยงของภาวะสมองเสื่อมก่อนวัย ทั้งสถานะทางสังคม ปัญหาสุขภาพ หรือวิถีการดำเนินชีวิต
การดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป การมีต้นทุนทางเศรษฐกิจและสังคมต่ำ การจมอยู่กับความเหงาเป็นประจำ การมีความบกพร่องทางการได้ยิน รวมถึงปัจจัยต่าง ๆ ที่นักวิจัยค้นพบรวม 15 รายการ สามารถเพิ่มความเสี่ยงของภาวะสมองเสื่อมก่อนวัยได้
ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยเอ็กซิเตอร์ (Exeter) และมาสทริชท์ (Maastricht) สหราชอาณาจักร ได้ศึกษาปัจจัยต่าง ๆ ที่อาจส่งผลต่อการเกิดภาวะสมองเสื่อมก่อนวัย ทั้งในแง่ของพันธุกรรม วิถีชีวิต และสภาพแวดล้อม จากกลุ่มตัวอย่างที่มีอายุน้อยกว่า 65 ปี จำนวน 350,000 ราย ทำให้สามารถระบุ 15 ปัจจัยที่อาจนำไปสู่ภาวะสมองเสื่อมก่อนวัย ได้แก่ ระดับการศึกษาหรือต้นทุนทางเศรษฐกิจและสังคมที่ต่ำ ปัจจัยทางสุขภาพอย่างการขาดวิตามิน การมีความบกพร่องทางการได้ยิน และความซึมเศร้า ตลอดจนรูปแบบการดำเนินชีวิตอย่างการดื่มแอลกอฮอล์และการแยกตัวออกจากสังคม การศึกษาวิจัยที่ผ่านมาพบว่า การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและรูปแบบการดำเนินชีวิตสามารถลดอัตราเสี่ยงของภาวะสมองเสื่อมในผู้สูงอายุได้ ซึ่งการค้นพบในงานวิจัยใหม่นี้อาจช่วยลดอัตราเสี่ยงของภาวะสมองเสื่อมก่อนวัยได้ในทำนองเดียวกัน
ปัจจุบันผู้คนทั่วโลกราว 4 ล้านคนกำลังประสบกับภาวะสมองเสื่อมก่อนวัย และพบผู้ป่วยรายใหม่ราว 370,000 คนต่อปี ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมีปัญหาเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวร่างกาย การเดิน หรือการทรงตัว ซึ่งหากเกิดกับผู้ที่อยู่ในวัยทำงานก็นับว่าทำให้เกิดความสูญเสียทั้งทางด้านสังคมและเศรษฐกิจค่อนข้างสูง เนื่องจากอาการต่าง ๆ อาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการทำงาน การเข้าสังคม และการรับผิดชอบต่อครอบครัว
การระบุปัจจัยที่สามารถปรับเปลี่ยนหรือควบคุมได้ ตลอดจนการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับกลไกที่ปัจจัยเหล่านี้นำไปสู่การเกิดโรค อาจช่วยป้องกันและลดความสูญเสียจากภาวะสมองเสื่อมก่อนวัยทั้งในระดับปัจเจกบุคคลและสังคมได้
ที่มาของแหล่งข้อมูล https://www.theguardian.com/society/2023/dec/26/alcohol-loneliness-increase-risk-early-onset-dementia https://www.forbes.com/sites/maryroeloffs/2023/12/26/early-onset-dementia-risk-tied-to-alcoholism-social-isolation-and-these-other-factors-study-finds/?sh=7785fb954cd2