Submitted by NSM Content Admin on 21 March 2024
มหัศจรรย์กลไกร่างกาย ตู้ควบคุมอุณหภูมิอัตโนมัติ ตอนที่ 1 เมื่อเผชิญความร้อน
Science Category
Published Date
Image

“มนุษย์เป็นสัตว์เลือดอุ่น” อุณหภูมิในร่างกายจะคงที่ ไม่เปลี่ยนแปลงไปตามสภาวะอากาศ แต่คุณเคยสงสัยหรือไม่ว่า ร่างกายเราทำได้อย่างไร  ร่างกายเรารู้ได้อย่างไร มีอะไรที่สั่งให้ร่างกายควบคุมอุณหภูมิตนเองให้คงที่

“37” คืองานของร่างกาย

ไม่ว่าเราจะอยู่ในสภาวะอากาศแบบใด หนาวยะเยือกแบบติดลบ หรือร้อนโลกันต์แบบ 40+ องศาเซลเซียส ร่างกายเราต้องควบคุมอุณหภูมิร่างกายให้อยู่ที่ 37 องศาเซลเซียสไว้ให้ได้ หากสูงหรือต่ำกว่านี้แค่ไม่กี่องศา อวัยวะภายในที่สำคัญจะได้รับความเสียหาย ไม่ว่าจะเป็น สมอง ปอด หัวใจ ตับ ไต ระบบไหลเวียนเลือด ระบบย่อยอาหาร และหากร่างกายทำงานนี้ไม่สำเร็จ ระบบต่าง ๆ ในร่างกายจะทยอยเสียศูนย์ไปเรื่อย ๆ ถ้าปล่อยไว้โดยไม่มีความช่วยเหลือใด ๆ ท้ายที่สุด ระบบต่าง ๆ จะล้มเหลว ร่างนั้นจะไม่อาจอยู่ได้อีกต่อไป

ดังนั้น ร่างกายมนุษย์มีเป้าหมายสำคัญอันหนึ่งคือ การคงเลข 37 ในร่างกายไว้ให้ได้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้

เมื่อโลก “ร้อน” กว่ากาย

สิ่งแวดล้อมไม่ได้มีอุณหภูมิตามที่ร่างกายต้องการเสมอไป โดยเฉพาะช่วงหน้าร้อน บวกกับภาวะโลกร้อน จนกลายเป็นภาวะโลกเดือด อุณหภูมิของอากาศสูงขึ้นเรื่อย ๆ แต่ธรรมชาติของระบบร่างกายสัตว์เลือดอุ่น ถูกออกแบบมาให้ควบคุมอุณหภูมิตนเองให้เหมาะสม เพื่อให้ระบบต่าง ๆ ในร่างกายทำงานเป็นปกติ

ในกรณีที่ต้องเผชิญสภาวะอากาศร้อน ร่างกายมนุษย์นั้นมีระบบปฏิบัติการต่าง ๆ เพื่อควบคุมอุณหภูมิให้คงที่ โดยมีสมองส่วน “ไฮโปธาลามัส” เป็นตัวสั่งการ หลักการลดอุณหภูมิคือ การพาความร้อนออกไปจากร่างกาย โดยหลัก ๆ จะอาศัย เลือดและเหงื่อ

ระบบปฏิบัติการ “ลดร้อน” ดับไฟในร่างกาย

เมื่อร่างกายรับรู้ว่า “ร้อน” สมองส่วนไฮโปทาลามัส จะหลั่งสารเคมีสั่งการให้ ต่อมไทรอยด์ ลดการหลั่งฮอร์โมนไทรอยด์ ทำให้อัตราการเผาผลาญในร่างกายลดลง เพราะการเผาผลาญจะทำให้เกิดความร้อนขึ้นนั่นเอง

นอกจากนี้ยังมีระบบประสาทอัตโนมัติหรือ ระบบประสาทซิมพาเธติก เข้ามาช่วยสั่งการกล้ามเนื้อเรียบของเส้นเลือดให้ขยายหลอดเลือดมากขึ้น เพื่อพาเลือดมาบริเวณผิวหนังให้มากที่สุด (สังเกตจากผิวเริ่มแดง) เลือดจะนำความร้อนจากภายในร่างกายมาระบายออกที่ผิวหนัง วนเวียนไปเรื่อย ๆ

เหตุการณ์นี้จะเกิดร่วมกับการที่ร่างกายขับเหงื่อออกมาตามผิวหนัง เมื่อเหงื่อระเหยออกไปก็จะพาเอาความร้อนออกไปด้วย ขณะเดียวกัน ถ้าร่างกายยังมีสติอยู่ ก็จะเกิดพฤติกรรมในการทำให้ผิวหนังได้รับ “ลม” ให้มากที่สุด เพื่อมาช่วยพาเหงื่อออกไปไม่ว่าจะเป็นการพัดวีต่าง ๆ กระพือเสื้อผ้า ทั้งหมดทั้งมวลเพื่อช่วยร่างกายลดความร้อนออกไปให้มากที่สุด

ทั้งหมดนี้คือ ระบบพื้นฐานที่ร่างกายมนุษย์จะทำเพื่อ “ลดร้อน” ในร่างกาย ไม่ให้อวัยวะภายในที่สำคัญได้รับความเสียหายจากอุณหภูมิที่สูงขึ้น

แต่อย่างที่กล่าวไปว่า ณ ปัจจุบัน มนุษย์กำลังเผชิญกับสภาวะอากาศแปรปรวน ประเทศไทยเผชิญปัญหาอากาศร้อน ที่ทำลายสถิติทุกปี จึงต้องหาวิธีช่วยร่างกายในการลดความร้อนด้วย เช่น จิบน้ำบ่อย ๆ  พยายามอยู่ในที่ร่มบ้าง และสุดท้ายถ้ารู้สึกว่าร่างกายไม่ไหวจริง ๆ โปรดขอความช่วยเหลือจากแพทย์

แหล่งที่มา

 ฮีทสโตรก และ การควบคุมอุณหภูมิ: ตอนที่ 1 (Heat Stroke & Thermoregulation) โดยนายแพทย์จักรีวัชร    [Video file]. Video posted to https://www.youtube.com/watch?v=tp9-91nO-r4 

https://www.medicalnewstoday.com/articles/thermoregulation#causes-of-dysfunction

Author
วารี อัศวเกียรติรักษา
Science Knowledge Type
Article