ปัจจุบันนี้ธุรกิจเสื้อผ้าต่างเติบโตอย่างมากมาย ตั้งแต่มีช่องทางการซื้อขายสินค้าได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะช่องทางออนไลน์ เช่น Amazon Lazada Shopee Facebook Instagram ต่างทำให้การซื้อขายนั้นสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น และจากรายงาน After the Binge the Hangover. Insights into the Minds of Clothing Consumers พบว่าในปัจจุบันนี้เป็นการตลาดแบบ Over Demand ทำให้การบริโภคสินค้าแฟชั่น ทั่วโลกนั้นล้นเกิน (Overconsumption) จนกลายเป็นปรากฎการณ์ซื้อสินค้าจนเกินความจำเป็นที่ต้องใช้
สิ่งที่ส่งผลตามมาจากการเติบโตของธุรกิจเสื้อผ้าที่มากเกินนั้น คือ การเกิดมลพิษอย่างมหาศาล เนื่องด้วยเสื้อผ้าทั่วไปนั้นจะประกอบด้วยเส้นใยสังเคราะห์มากกว่า 60% ซึ่งเมื่อเราซักเสื้อผ้าเส้นใยสังเคราะห์นี้จะเกิดการปนเปื้อนออกมาเป็นไมโครไฟเบอร์และไหลลงสู่แหล่งน้ำ ทะเล และมหาสมุทร ไมโครไฟเบอร์นี้ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตในน้ำตลอดจนสามารถถ่ายทอดไปยังห่วงโซ่อาหารได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม และท้ายที่สุดก็ย้อนกลับมาส่งผลกระทบต่อมนุษย์
Biocouture คือ แฟชั่นแบบใหม่ที่สามารถปลูกเสื้อผ้าให้พอดีกับตัวผู้สวมใส่ได้ โดยใช้หลักการสร้างของจุลินทรีย์ ซึ่งเป็นหนึ่งในวิธีการแก้ไขปัญหาการเกิดมลพิษจากอุตสาหกรรมเสื้อผ้าได้ ซูซาน ลี (Suzanne Lee) นักวิจัยอาวุโส จากโรงเรียนสอนแฟชั่นและสิ่งทอ (Central Saint Martins) ประเทศอังกฤษ เป็นผู้จุดประกายออกแบบแฟชั่นและเป็นผู้ริเริ่มนวัตกรรมการปลูกเสื้อผ้า Biocouture เกิดจากการทำเสื้อผ้าจากจุลินทรีย์ชนิดเดียวกับที่ใช้ในการหมักชาเขียว โดยมีวิธีการปลูกเสื้อผ้าจากการใช้ยีสต์ ชารสหวาน (sweetened tea) และแบคทีเรีย ใส่รวมกัน ซึ่งจะมีการผลิตโครงเป็นแผ่นเซลลูโลสที่สามารถออกแบบได้ตามรูปร่างของคนที่สวมใส่อย่างพอดีตัว ส่วนสีสันของเสื้อผ้าจะเกิดจากการนำสีของผักและผลไม้มาย้อม เมื่อเราเปลี่ยนขนาดตัวหรืออยากเปลี่ยนเสื้อผ้าใหม่ เสื้อผ้าที่เกิดจาก Biocouture สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติโดยที่จะไม่ทิ้งมลพิษอื่น ๆ ไว้บนโลกใบนี้
Biocouture นี้คือหนึ่งในทางเลือกที่เราจะสามารถช่วยกันลดมลพิษที่เกิดขึ้นจากอุตสาหกรรมเสื้อผ้า หรือท้ายที่สุดเราทุกคนสามารถช่วยลดมลพิษที่เกิดขึ้นจากเสื้อผ้าได้โดยการใช้เสื้อผ้าที่มีให้คุ้มค่าที่สุด ใช้ตามความจำเป็น แค่นี้เราก็สามารถเป็นส่วนหนึ่งในการลดมลพิษจากอุตสาหกรรมเสื้อผ้าได้
“พึงระลึกไว้เสมอว่าเสื้อผ้าเพียง 1 ตัว สามารถก่อให้เกิดมลพิษทั้งจากกระบวนการผลิต การซักล้าง และการทิ้ง ตามมาอย่างมากมายมหาศาล”
ที่มาของภาพ
http://www.synthetic-bestiary.com/638/biocouture-is-growing-clothing/
https://www.fastcompany.com/1661890/biocouture-high-fashion-grown-from-microbes
ที่มาของแหล่งข้อมูล (Reference)
Carolin Wahnbaeck, Lu Yen Rolof. After the Binge, the Hangover [Online]. 2017, แหล่งที่มา: https://wayback.archive-it.org/9650/20200401054715/http://p3-raw.greenpeace.org/international/Global/international/publications/detox/2017/After-the-Binge-the-Hangover.pdf [2 พฤษภาคม 2564]
James Pruden. Preference for Polyester May Make Fast Fashion Brands Vulnerable [Online]. 2019, แหล่งที่มา: https://www.therobinreport.com/preference-for-polyester-may-make-fast-fashion-brands-vulnerable/ [2 พฤษภาคม 2564]
Fastcompany. BioCouture: High Fashion Grown From Microbes [Online]. 2010, แหล่งที่มา: https://www.fastcompany.com/1661890/biocouture-high-fashion-grown-from-microbes [5 พฤษภาคม 2564]
Greenpeace. ตีแผ่ความจริงของมลพิษใน Fast Fashion [Online]. 2019, แหล่งที่มา: https://www.greenpeace.org/thailand/story/4704/fast-fashion-toxic/ [5 พฤษภาคม 2564]