ลดมลพิษ
ลดมลพิษ

ปัจจุบันนี้ธุรกิจเสื้อผ้าต่างเติบโตอย่างมากมาย ตั้งแต่มีช่องทางการซื้อขายสินค้าได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะช่องทางออนไลน์ เช่น Amazon Lazada Shopee Facebook Instagram ต่างทำให้การซื้อขายนั้นสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น และจากรายงาน After the Binge the Hangover. Insights into the Minds of Clothing Consumers พบว่าในปัจจุบันนี้เป็นการตลาดแบบ Over Demand ทำให้การบริโภคสินค้าแฟชั่น ทั่วโลกนั้นล้นเกิน (Overconsumption) จนกลายเป็นปรากฎการณ์ซื้อสินค้าจนเกินความจำเป็นที่ต้องใช้

          สิ่งที่ส่งผลตามมาจากการเติบโตของธุรกิจเสื้อผ้าที่มากเกินนั้น คือ การเกิดมลพิษอย่างมหาศาล เนื่องด้วยเสื้อผ้าทั่วไปนั้นจะประกอบด้วยเส้นใยสังเคราะห์มากกว่า 60% ซึ่งเมื่อเราซักเสื้อผ้าเส้นใยสังเคราะห์นี้จะเกิดการปนเปื้อนออกมาเป็นไมโครไฟเบอร์และไหลลงสู่แหล่งน้ำ ทะเล และมหาสมุทร ไมโครไฟเบอร์นี้ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตในน้ำตลอดจนสามารถถ่ายทอดไปยังห่วงโซ่อาหารได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม และท้ายที่สุดก็ย้อนกลับมาส่งผลกระทบต่อมนุษย์

          Biocouture คือ แฟชั่นแบบใหม่ที่สามารถปลูกเสื้อผ้าให้พอดีกับตัวผู้สวมใส่ได้ โดยใช้หลักการสร้างของจุลินทรีย์ ซึ่งเป็นหนึ่งในวิธีการแก้ไขปัญหาการเกิดมลพิษจากอุตสาหกรรมเสื้อผ้าได้ ซูซาน ลี (Suzanne Lee) นักวิจัยอาวุโส จากโรงเรียนสอนแฟชั่นและสิ่งทอ (Central Saint Martins) ประเทศอังกฤษ เป็นผู้จุดประกายออกแบบแฟชั่นและเป็นผู้ริเริ่มนวัตกรรมการปลูกเสื้อผ้า Biocouture เกิดจากการทำเสื้อผ้าจากจุลินทรีย์ชนิดเดียวกับที่ใช้ในการหมักชาเขียว โดยมีวิธีการปลูกเสื้อผ้าจากการใช้ยีสต์ ชารสหวาน (sweetened tea) และแบคทีเรีย ใส่รวมกัน ซึ่งจะมีการผลิตโครงเป็นแผ่นเซลลูโลสที่สามารถออกแบบได้ตามรูปร่างของคนที่สวมใส่อย่างพอดีตัว ส่วนสีสันของเสื้อผ้าจะเกิดจากการนำสีของผักและผลไม้มาย้อม เมื่อเราเปลี่ยนขนาดตัวหรืออยากเปลี่ยนเสื้อผ้าใหม่ เสื้อผ้าที่เกิดจาก Biocouture สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติโดยที่จะไม่ทิ้งมลพิษอื่น ๆ ไว้บนโลกใบนี้

Biocouture นี้คือหนึ่งในทางเลือกที่เราจะสามารถช่วยกันลดมลพิษที่เกิดขึ้นจากอุตสาหกรรมเสื้อผ้า หรือท้ายที่สุดเราทุกคนสามารถช่วยลดมลพิษที่เกิดขึ้นจากเสื้อผ้าได้โดยการใช้เสื้อผ้าที่มีให้คุ้มค่าที่สุด ใช้ตามความจำเป็น แค่นี้เราก็สามารถเป็นส่วนหนึ่งในการลดมลพิษจากอุตสาหกรรมเสื้อผ้าได้

“พึงระลึกไว้เสมอว่าเสื้อผ้าเพียง 1 ตัว สามารถก่อให้เกิดมลพิษทั้งจากกระบวนการผลิต การซักล้าง และการทิ้ง ตามมาอย่างมากมายมหาศาล”

ที่มาของภาพ

http://www.synthetic-bestiary.com/638/biocouture-is-growing-clothing/

https://www.fastcompany.com/1661890/biocouture-high-fashion-grown-from-microbes

ที่มาของแหล่งข้อมูล (Reference)

Carolin Wahnbaeck, Lu Yen Rolof. After the Binge, the Hangover [Online]. 2017, แหล่งที่มา: https://wayback.archive-it.org/9650/20200401054715/http://p3-raw.greenpeace.org/international/Global/international/publications/detox/2017/After-the-Binge-the-Hangover.pdf [2 พฤษภาคม 2564]

James Pruden. Preference for Polyester May Make Fast Fashion Brands Vulnerable [Online]. 2019, แหล่งที่มา: https://www.therobinreport.com/preference-for-polyester-may-make-fast-fashion-brands-vulnerable/ [2 พฤษภาคม 2564]

Fastcompany. BioCouture: High Fashion Grown From Microbes [Online]. 2010, แหล่งที่มา: https://www.fastcompany.com/1661890/biocouture-high-fashion-grown-from-microbes [5 พฤษภาคม 2564]

Greenpeace. ตีแผ่ความจริงของมลพิษใน Fast Fashion [Online]. 2019, แหล่งที่มา: https://www.greenpeace.org/thailand/story/4704/fast-fashion-toxic/ [5 พฤษภาคม 2564]

standard
“Biocouture” ปลูกเสื้อผ้าให้พอดีตัวคุณ ลดมลพิษย่อยสลายได้
Expired date