จุลินทรีย์ในลำไส้ เชื่อมโยงความเครียด และอัลไซเมอร์!
Science News Categories
Publish date
17/03/2025
Image
1

นักวิจัยเผย การปรับเปลี่ยนจุลินทรีย์ในลำไส้ด้วยการรับประทานโพรไบโอติกส์ หรือพรีไบโอติกส์ มีความสัมพันธ์กับระบบภูมิคุ้มกัน ความเครียด และโรคต่างๆที่เกี่ยวกับสมอง

 

วันที่ 6 มีนาคม 2568 วารสาร Cell Reports Medicine รายงานว่าจุลินทรีย์ในลำไส้หรือ Gut Microbiota ไม่ได้มีหน้าที่แค่ช่วยย่อยอาหารเท่านั้น แต่ยังมีความสัมพันธ์กับระบบภูมิคุ้มกันและสมอง โดยพบว่าจุลินทรีย์ในลำไส้มีความเชื่อมโยงกับการตอบสนองต่อความเครียด ซึ่งจะส่งผลต่อพฤติกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ และโรคต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับสมอง เช่น โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล โรคจิตเภท โรคออทิสติก โรคสมาธิสั้น โรคพาร์กินสัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคอัลไซเมอร์ โดยงานวิจัยดังกล่าวมีการช่วยเสนอแนวทางในการรักษา ด้วยการปรับเปลี่ยนจุลินทรีย์ในลำไส้ด้วยการรับประทานจุลินทรีย์ดี อย่างเช่นโพรไบโอติกส์ (probiotics) ซึ่งเป็นจุลินทรีย์ที่มีชีวิต พรีไบโอติกส์ (prebiotics) ซึ่งเป็นสารอาหารที่ช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ ซินไบโอติกส์ (Synbiotics) เป็นการรวมตัวกันของโพรไบโอติกส์และพรีไบโอติกส์  และโพสไบโอติกส์ (Postbiotic) ซึ่งเป็นสารที่ถูกสร้างขึ้นจากกระบวนการย่อยอาหารของพรีไบโอติกส์และโพรไบโอติกส์ ซึ่งมีส่วนช่วยในการเสริมสร้างภูมิต้านทานให้กับร่างกาย รวมถึงอาจป้องกันโรคต่าง ๆ ที่ข้องเกี่ยวกับสมองและความเครียดได้

รูปภาพประกอบด้วย ข้อความ

เนื้อหาที่สร้างโดย AI อาจไม่ถูกต้อง

นักวิจัยได้อธิบายกลไกการส่งผ่านจุลินทรีย์ในลำไส้ที่ส่งผลต่อความเครียดว่า เป็นการส่งผ่านอวัยวะทั้งหมด 3 ส่วน ได้แก่ สมองส่วนไฮโปทาลามัส (Hypothalamus) ต่อมใต้สมอง (Pituitary gland) และต่อมหมวกไต (Adrenal gland) ซึ่งเรียกการส่งผ่านดังกล่าวว่า Hypothalamus-Pituitary-Adrenal หรือ HPA axis ซึ่งการส่งผ่านดังกล่าวเกี่ยวข้องกับการหลั่งฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับความเครียด นอกจากนั้นพบว่าจุลินทรีย์ในลำไส้สามารถสื่อสารกับสมองผ่านหลายช่องทาง ได้แก่ ระบบประสาทอัตโนมัติ โดยผ่านเส้นประสาทที่เชื่อมต่อโดยตรงระหว่างลำไส้และสมอง ได้แก่ เส้นประสาทเวกัส (vagus nerve) และระบบประสาทลำไส้ (enteric nervous system) ซึ่งทำหน้าที่เป็นเครือข่ายเส้นประสาทในระบบทางเดินอาหาร นอกจากนั้นยังผ่านช่องทางต่อมไร้ท่อ โดยผ่านการผลิตสารสื่อประสาท และฮอร์โมนต่าง ๆ ซึ่งมีผลต่อการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน และโรคต่างๆที่เกี่ยวกับสมอง ยกตัวอย่างเช่น ในโรคพาร์กินสัน พบว่าโปรตีน α-synuclein ซึ่งเป็นสาเหตุของโรค จะเริ่มสะสมในลำไส้ก่อนที่จะแพร่กระจายไปยังสมองผ่านเส้นประสาทเวกัส และในโรคอัลไซเมอร์ พบความเชื่อมโยงระหว่างการเปลี่ยนแปลงของจุลินทรีย์ในลำไส้กับการอักเสบของเซลล์ประสาทและการสะสมของโปรตีนอะไมลอยด์เบตา (amyloid-beta) ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคอัลไซเมอร์

งานวิจัยนี้ถือเป็นองค์ความรู้ใหม่ในการศึกษาและรักษาโรคทางสมอง โดยใช้การปรับเปลี่ยนจุลินทรีย์ในลำไส้ ซึ่งอาจเป็นแนวทางใหม่ที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัยกว่าการรักษาแบบดั้งเดิม และยังเป็นองค์ความรู้ที่ใช้พัฒนาเทคโนโลยีดัดแปลงพันธุกรรม เช่น CRISPR สำหรับการแก้ไขรหัสพันธุกรรมจุลินทรีย์ เพื่อใช้รักษาโรคทางระบบประสาทให้มีความแม่นยำมากขึ้นในอนาคต

 

อ้างอิง

  1. O'Riordan, K. J., Collins, M. K., Cryan, J. F., & Hyland, N. P. (2023). The gut microbiota-immune-brain axis: Therapeutic implications. Cell Reports Medicine, 0(0), 101982.
  2. https://www.cell.com/cell-reports-medicine/fulltext/S2666-3791(25)00055-2
Created by
เรียบเรียงโดย ศรสวรรค์ เลี่ยมทอง นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ