ที่ผ่านมา หลายประเทศเริ่มอนุญาตให้มีการนำกัญชามาใช้ในการแพทย์ จนไม่กี่ปีมานี้บางประเทศได้เปิดให้มีการใช้กัญชาเสรีแล้ว ทำให้มีนักวิทยาศาสตร์จำนวนมากหันมาสนใจศึกษาฤทธิ๋ทางเภสัชวิทยา (Pharmacology) และพิษวิทยา (Toxicology) ของกัญชามากขึ้น เพื่อให้กัญชาถูกนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ และปลอดภัยอย่างสูงสุด
ดร. ยาสมิน เฮิร์ด (Dr. Yasmin Hurd) ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยการเสพสารเสพติดภูเขาซีไน (Director of Addiction Institute of Mount Senai) มหาวิทยาลัยแพทย์ไอคานห์ (Icanh School of Medicine) นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ได้เสนอผลการศึกษาเกี่ยวกับพิษวิทยาของสารสกัดจากกัญชา เกี่ยวกับผลกระทบของสารในกัญชา ชื่อว่า เตตระไฮโดรแคนนาบินอล (Tetrahydrocannabinol) ซึ่งใช้ในการแพทย์ เพื่อลดการปวด การเกร็งของกล้ามเนื้อ และอาการคลื่นไส้ แต่ถ้าได้รับมากเกินไป จะทำให้เกิดอาการเคลิ้มเมา ใจสั่น เห็นภาพหลอน และเสพติด
ภาพตัดขวางสมองของผู้เสพกัญชาเป็นเวลานาน ๆ แสดงให้เห็นโปรตีนซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวรับสาร เตตระไฮโดรแคนนาบินอล (Tetrahydrocannabinol Receptor) ซึ่งกระจายตัวอยู่ทั่วรอยนูนของเปลือกสมองใหญ่ (Cerebral Cortex) จนไปขัดขวางการทำงานของสมองส่วนนี้ ส่งผลกระทบต่อการรับรู้ และวิเคราะห์ข้อมูลจากทั้งภายในและภายนอกร่างกาย ทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับความจำ และการควบคุมอารมณ์ ทั้งนี้เมื่อทำการศึกษาเพิ่มเติมในหนู ทารกในครรภ์ และเด็กที่มีประวัติเกี่ยวกับกัญชาทั้งทางตรง และทางอ้อม จะพบความผิดปกติของสารพันธุกรรม รวมไปถึงความผิดปกติของสารสื่อประสาท และคลื่นไฟฟ้าในสมอง ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของนักประสาทวิทยาจำนวนมากที่แสดงให้เห็นว่า การเสพกัญชา รวมไปถึงการใช้สารสกัดกัญชาทางการแพทย์มีผลต่อสมอง โดยเฉพาะในเด็กซึ่งสมองกำลังพัฒนา จะทำให้เกิดภาวะบกพร่องทางการเรียนรู้ และการควบคุมอารมณ์
การศึกษาของ ดร. เฮิร์ด ช่วยตอกย้ำให้เห็นผลกระทบในอีกแง่มุมหนึ่งของการอนุญาตให้มีการใช้กัญชาเพื่อการแพทย์ และกัญชาเสรีที่ทำให้ผู้คนจำนวนมากสามารถเข้าถึงกัญชาได้ง่ายเกินไปภายใต้ข้ออ้างด้านการแพทย์ซึ่งมีช่องโหว่อีกมาก ก่อให้เกิดผลเสียอย่างร้ายแรงต่อประชากรในสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะในเด็กและวัยรุ่น จึงได้มีการเรียกร้องให้พิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการใช้กัญชาให้มีความเข้มงวดและรัดกุมมากขึ้น
Link ที่เกี่ยวข้อง:
SMOKE ALARM: As states relax their laws on cannabis, neuroscientist Yasmin Hurd is warning about the drug’s dangers for the developing brain. [ออนไลน์]. 31 สิงหาคม 2023, แหล่งที่มา: https://www.science.org/content/article/cannabis-laws-relax-neuroscientist-warns-its-dangers-developing-brain [4 กันยายน 2023]
Tetrahydrocannabinol (THC). [ออนไลน์]. 2023, แหล่งที่มา: https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK563174/ [4 กันยายน 2566]
Marijuana and Public Health. [ออนไลน์]. 2020, แหล่งที่มา: https://www.cdc.gov/marijuana/health-effects/brain-health.html [4 กันยายน 2566]
Cannabis (Marijuana) Research Report: What are marijuana's long-term effects on the brain?. [ออนไลน์]. 2020, แหล่งที่มา: https://nida.nih.gov/publications/research-reports/marijuana/what-are-marijuanas-long-term-effects-brain [4 กันยายน 2566]
Cannabis and the Brain. [ออนไลน์]. 2020, แหล่งที่มา: https://hms.harvard.edu/news-events/publications-archive/brain/cannabis-brain [4 กันยายน 2566]