aaaa
standard
ฮิปโปโปเตมัส (Hippopotamus) หรือที่เราเรียกสั้น ๆ ว่า ฮิปโป (Hippopotamus amphibius) เป็นสัตว์กินพืชขนาดใหญ่ที่อาศัยอยู่ในน้ำ มีผิวหนังหนา ซึ่งเต็มไปด้วยขนเส้นเล็ก กระจายอยู่ห่าง ๆ ปกคลุมทั่วทั้งตัว ขนเหล่านี้ไม่ได้ทำหน้าที่ป้องกันอันตรายจากแสงแดดเช่นเดียวกับขนของสัตว์อื่น ๆ แต่ทำหน้าที่เป็นอวัยวะรับสัมผัสที่ไวต่อความแห้ง และแสงแดด และหากสังเกตให้ดี จะพบว่าเหงื่อของฮิปโปเป็นของเหลวสีแดง คล้ายสีของเลือด

สีแดงที่เห็นไม่ได้มาจากเลือด แต่เป็นกลไกอย่างหนึ่งที่ช่วยปกป้องผิวของฮิปโปไม่ให้แห้งและถูกเผาจากแสงแดด ทั้งยังช่วยควบคุมอุณหภูมิร่างกายของตัวฮิปโป เหงื่อสีแดงนี้ผลิตจากต่อมใต้ผิวหนัง มีลักษณะเหนียวหนืด ไม่ระเหยเหมือนเหงื่อของสัตว์อื่น ๆ แต่จะเคลือบอยู่บนผิวของฮิปโป ทำหน้าที่คล้ายครีมกันแดด ปกป้องอันตรายจากแสงแดด และดูดซับรังสีอัลตราไวโอเลต (Ultraviolet Radiation หรือ UV) โดยเริ่มแรกเหงื่อของฮิปโปไม่มีสี แต่ภายในเวลาไม่กี่นาทีหลังจากหลั่งเหงื่อออกมา เหงื่อจะค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นสีแดง จากนั้นโมเลกุลของเม็ดสีหลายโมเลกุลจะมารวมเข้าด้วยกัน (Pigment polymerizes) ทำให้เหงื่อเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลในที่สุด

เมื่อปี พ.ศ. 2547 นักวิทยาศาสตร์พบว่า แท้ที่จริงแล้วเหงื่อสีแดงของฮิปโปไม่ใช่เหงื่อ แต่เป็นสารประกอบอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอนที่ไม่มีวงเบนซีน (Non-benzenoid aromatic) 2 ชนิด โดยชนิดแรกเป็นสารสีแดง เรียกว่า กรดฮิปโปซูโดริก (Hipposudoric acid) และชนิดที่สอง เป็นสารสีส้ม เรียกว่า กรดนอร์ฮิปโปซูโดริก (Norhipposudoric acid) เคลือบอยู่บนผิวหนัง ที่ไม่เพียงทำหน้าที่ป้องกันแสงแดด แต่ยังทำหน้าที่เป็นยาปฏิชีวนะ (Antibiotic) ยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรค รวมถึงบาดแผลของฮิปโปไม่ให้เกิดการติดเชื้อจนเกิดอันตรายถึงชีวิต เพราะฮิปโปเป็นสัตว์ที่มักต่อสู้อยู่ตลอดเวลา บางครั้งเกิดการบาดเจ็บ และเกิดบาดแผลขนาดใหญ่ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อทั้งทางอากาศ และน้ำ

ฮิปโปโปเตมัส
เรียบเรียงโดย : เกียรติศักดิ์ ศิริมั่น อาสาสมัคร กองวิชาการวิทยาศาสตร์ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ อพวช.
ทำไมเหงื่อของฮิปโปถึงมีสีแดง
Expired date