
คณะนักวิจัยภาควิชาสัตววิยา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รายงานการค้นพบ “กุ้งเต้นปั่นท่อ” ชนิดใหม่จากลำน้ำแม่กลอง
ผศ.ดร. กรอร วงษ์กำแหง, นางสาวชนิกานต์ เกตุนวม และ ดร.ทศพล แซ่ตั้ง กีฏพิชญกุล จากภาควิชาสัตววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับ Assoc. Prof. Dr. Azman Abdul Rahim จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติมาเลเซีย (Universiti Kebangsaan Malaysia) ได้ตีพิมพ์รายงานการค้นพบกุ้งเต้นปั่นท่อชนิดใหม่ลงในวารสารวิชาการ Zoosystematics and Evolution โดยเป็นการค้นพบกุ้งเต้นปั่นท่อที่อาศัยอยู่ในแม่น้ำเป็นครั้งแรกของประเทศไทย ผศ.พงษ์รัตน์ ดำรงโรจน์วัฒนา ผู้เชี่ยวชาญด้านอนุกรมวิธานจึงได้ตั้งชื่อให้ว่า Cerapus rivulus
แม่น้ำแม่กลองเป็นแม่น้ำที่ไหลลงสู่อ่าวไทยบริเวณจังหวัดสมุทรสงคราม เป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์เป็นอย่างมาก โดยในปีที่ผ่านมามีการค้นพบกุ้งเต้นชนิดใหม่ของโลกที่อำเภออัมพวาไปแล้ว 2 ชนิด ในปีนี้คณะสำรวจได้ทำการสำรวจต่อเนื่องในเขตอำเภอบางคนที และได้พบกุ้งเต้นปั่นท่อที่สร้างท่อติดไว้กับเครื่องมือวิจัยที่ท่าน้ำบริเวณหน้าโรงเรียนดรุณานุเคราะห์
ดร.ทศพล ให้ข้อมูลว่า “การรายงานชนิดใหม่ครั้งนี้ เป็นการรายงานกุ้งเต้นปั่นท่อเป็นครั้งแรก แต่เดิมมีการรายงานกุ้งเต้นปั่นท่อ 2 ชนิด ที่จังหวัดภูเก็ต มากกว่า 10 ปีมาแล้ว โดยที่ 2 ชนิดที่พบก่อนหน้าอยู่ในทะเลเท่านั้น จึงเกิดความสนใจว่า กุ้งเต้นปั่นท่อที่เจอในแม่กลอง กับที่เจอที่ภูเก็ตคือตัวเดียวกันหรือไม่ โดยใช้ลักษณะทางสันฐานวิทยา โครงสร้างของปลอก ชีววิทยาต่าง ๆ พบว่ามีความแตกต่างกันหลายประการ ผู้วิจัยจึงตั้งกุ้งเต้นปั่นท่อที่เจอในแม่น้ำแม่กลองเป็นกุ้งเต้นชนิดใหม่ โดยมีชื่อวิทยาศาสตร์คือ Cerapus rivulus คำว่า rivulus มาจากภาษาลาตินที่แปลว่า แม่น้ำ”

คณะวิจัยได้ทดลองเลี้ยงกุ้งเต้นปั่นท่อชนิดนี้เพื่อศึกษาพฤติกรรมการสร้างท่อ การสืบพันธุ์ และการกินอาหารพบว่ากุ้งเต้นปั่นท่อชนิดนี้มีการกินอาหารโดยการจับตะกอนแขวนลอยในน้ำ ช่วยทำให้น้ำในพื้นที่สะอาดขึ้นอีกทั้งกุ้งเต้นปั่นท่อมีการสร้างและปั่นใยออกมาจากขาเดินคู่ที่ 3 – 4 มีคุณสมบัติเหนียวและยึดติดกับวัสดุได้ซึ่งเป็นการเอาตัวรอดในแหล่งที่อยู่อาศัยที่มีน้ำไหลค่อนข้างแรง การค้นพบนี้อาจเป็นการต่อยอดชีวลอกเลียน (Biomimic) เพื่อพัฒนากาวที่มีความเหนียว ยืดหยุ่น และติดใต้น้ำได้


ข้อมูลเพิ่มเติม กุ้งเต้น ไม่ใช่ชื่อเมนูอาหารที่นำกุ้งฝอยมายำ แต่เป็นสิ่งมีชีวิตในกลุ่ม Amphipoda ซึ่งเป็นญาติกันกับกุ้ง กั้ง ปู
ผู้เขียน เฮียฮก (ศุภพิพัฒน)
ที่มาของภาพ https://zse.pensoft.net/article/107974/list/9/
ที่มาของแหล่งข้อมูล
ทีมนักวิจัย มก. พบกุ้งเต้นปั่นท่อชนิดใหม่ของโลกบริเวณแม่น้ำแม่กลอง อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม เป็นรายงานแรกที่พบในอ่าวไทยและในแม่น้ำ [ออนไลน์]. 2023, แหล่งที่มา
https://www.facebook.com/KasetsartUniversity/posts/740717428091610?ref=embed_post
นักวิจัย มก. พบ ‘กุ้งเต้นปั่นท่อ’ ชนิดใหม่ของโลก บริเวณแม่น้ำแม่กลอง [ออนไลน์]. 2023, แหล่งที่มา