ชาวประมงจังหวัดสตูลจับปลาลำตัวยาวได้ นักวิชาการชี้ปลา “ออร์ฟิช” เป็นปลาน้ำลึก ขึ้นมาพร้อมกับมวลน้ำเย็น ไม่เกี่ยวกับแผ่นดินไหว แจ้งประชาชนอย่าตื่นตระหนก
หลังจากมีการโพสต์ภาพทางเฟสบุ๊กในกลุ่ม “นี่ตัวอะไร” ในวันที่ 4 มกราคม 2567 ถึงปลาตัวยาวเหมือนเส้นริบบิ้นที่จับได้พร้อมกับอวนล้อมปลากลางทะเลฝั่งอันดามัน บริเวณเกาะลิบง และเกาะอาดัง จังหวัดสตูล และนำขึ้นมากับเรือประมง เป็นที่สนใจกับผู้พบเห็น เพราะปลาลักษณะนี้พบเจอยากในชีวิตประจำวัน จึงไม่คุ้นชินกันสักเท่าไร ปลาชนิดนี้คือ “ปลาออร์ฟิช” (Regalecus glesne) มีลักษณะพิเศษคือลำตัวแบนยาว สีเงินครีบสีแดงส้ม มีจุดข้างลำตัว ในอดีตเคยพบยาวถึง 11 เมตร ถิ่นอาศัยอยู่ในทะเลลึกที่อุณหภูมิต่ำ
ผู้ที่เคยพบปลาออร์ฟิชขึ้นมาจากน้ำ มีความเชื่อเล่ากันมาว่า เมื่อพบเจอปลาชนิดนี้แล้ว จะเกิดภัยพิบัติตามมา อย่างประเทศญี่ปุ่นที่เคยพบและหลังจากนั้นไม่นาน ก็บังเอิญเกิดเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในจังหวัดฟุกุชิมะ ในปี 2554 ทำให้เชื่อว่าปลาชนิดนี้เป็นตัวแทนของเทพมังกรขึ้นมาเพื่อเตือนภัย เพราะรับรู้เหตุการณ์ใต้น้ำใต้ดินล่วงหน้า ถ้าสังเกตจากรูปร่างก็คล้ายกับมังกรฮากุในอานิเมะจิบลิ เรื่อง Spirited away ซึ่งเป็นเทพเจ้าปกปักษ์รักษาสายน้ำ ภายหลังก็ได้รับการยืนยันจากงานวิจัยในประเทศญี่ปุ่นเอง ว่าการพบปลาออร์ฟิชไม่สัมพันธ์กับการเกิดแผ่นดินไหว แต่การพบเจอปลาออร์ฟิชครั้งนี้ก็ยังคงสร้างความกังวลให้กับหลาย ๆ คนอยู่ ในประเทศไทยบ้างก็เรียกปลาชนิดนี้ว่า ปลาพญานาค เพราะเกิดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับภาพถ่ายทหารช่วยกันอุ้มปลาออร์ฟิชในอดีต ที่เข้าใจว่าถ่ายจากแม่น้ำโขง
ด้านนักวิชาการชื่อดัง ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อธิบายว่าเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่อาจเกิดขึ้นได้ แม้จะไม่บ่อยก็ตาม เนื่องจากทะเลไทยฝั่งอันดามันเป็นทะเลน้ำลึก ลึกสุดที่ 2,000 เมตร จึงอาจมีปลาออร์ฟิชอาศัยอยู่ได้ ประจวบเหมาะกับช่วงนี้เป็นช่วงที่เกิดปรากฏการณ์ Indian Ocean Dipole (IOD) ที่เปลี่ยนแปลงกระแสน้ำและอุณหภูมิผิวน้ำชายฝั่งตะวันตกและตะวันออกรอบมหาสมุทรอินเดีย ครั้งนี้ส่งผลให้อุณหภูมิผิวน้ำทะเลประเทศไทยฝั่งอันดามัน ซึ่งเป็นฝั่งตะวันออกของมหาสมุทรอินเดียเย็นตัวลง ปลาชนิดนี้จึงว่ายขึ้นมาตามมวลน้ำเย็น ยืนยันได้ว่าไม่เกี่ยวข้องกับภัยพิบัติแต่อย่างใด นักท่องเที่ยวและชาวบ้านสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ และร่างปลาออร์ฟิชก็ถูกนำไปจัดเก็บเพื่อการศึกษาต่อไป
ที่มาของภาพ 1. เฟสบุ๊กคุณ Apiradee Napairee 2. กลุ่มเฟสบุ๊ก “นี่ตัวอะไร” จากคุณ Wannarrong Sa-ard เข้าถึงจาก https://www.facebook.com/groups/317654035895356/posts/1120637245597027/
ที่มาของแหล่งข้อมูล https://www.facebook.com/thon.thamrongnawasawat/posts/7886250911390043?ref=embed_post http://www.marine.tmd.go.th/thai/IOD-2555.pdf https://readthecloud.co/oarfish-naga/?fbclid=IwAR3brdp5M3L88a7Yao8zL3OfKx22jmtYqVHh6JNkcRWIoeu8rWNIXYeN41I