ฉายพลาสมารักษากระดูกหัก หายได้เร็วขึ้น พร้อมเสริมความแข็งแรงให้กระดูก
Science News Categories
Publish date
23/04/2024
Image
1

นักวิจัยแดนปลาดิบเสนอศาสตร์การเชื่อมกระดูกหักแบบใหม่ด้วยเทคโนโลยีการฉายพลาสมา ที่อาจช่วยลดระยะเวลาการรักษา พร้อมเสริมกระดูกให้แข็งแรงขึ้นกว่าการรักษาแบบเดิม 3 เท่า

งานวิจัยตีพิมพ์ในนิตยสาร PLoS One โดยทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัย Osaka Metropolitan ประเทศญี่ปุ่น แสดงผลการทดสอบเทคนิครักษากระดูกหักด้วยการฉายพลาสมา พบว่า สามารถช่วยเชื่อมกระดูกที่มีการหักซับท้อนหลายตำแหน่ง (complex fractures) ได้รวดเร็วขึ้น พร้อมเสริมให้กระดูกบริเวณดังกล่าวแข็งแรงกว่าการรักษาที่ไม่มีการฉายพลาสมา

ปัจจุบัน กระดูกหักที่เคลื่อนตัวหรือมีความซับซ้อนจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดและอาจต้องพักฟื้นในขณะที่ผู้ป่วยยังเคลื่อนไหวไม่ได้เป็นเวลานาน แม้ว่าส่วนใหญ่จะรักษาได้ แต่ประมาณ 5-10% เป็นการรักษาที่ไม่สมบูรณ์ กระดูกเชื่อมต่อกันล่าช้า หรือไม่เชื่อมต่อกันเหมือนเดิม และอาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อน ความเจ็บปวดถาวร และภาระทางจิตใจ ทีมนักวิจัยจึงพยายามลดระยะเวลาของการรักษาและฟื้นตัวด้วยการใช้พลาสมาเจ็ทความดันบรรยากาศที่อุณหภูมิต่ำ (non-thermal atmospheric-pressure plasma) ซึ่งกำลังเป็นที่สนใจในการนำมาใช้ทางการแพทย์ เนื่องจากมีคุณสมบัติซ่อมแซมเนื้อเยื่อได้

การทดสอบกับหนูทดลอง 2 กลุ่ม กลุ่มแรก จำนวน 24 ตัว มีกระดูกหักแบบปกติทั่วไปที่สามารถรักษาได้ง่าย และกลุ่มที่สอง จำนวน 20 ตัว มีกระดูกหักที่มีการเคลื่อนตัวหรือซับซ้อน ซึ่งมักจะใช้ระยะเวลานานในการรักษา หรือรักษาได้ไม่สมบูรณ์ พบว่า การฉายพลาสมาไม่ได้มีผลต่อการรักษากระดูกหักแบบปกติมากนัก แต่ในกรณีของกระดูกหักที่ซับซ้อน เทคนิคนี้สามารถช่วยลดระยะเวลาการรักษาและพักฟื้นลงอย่างเห็นได้ชัด และบริเวณกระดูกที่ได้รับการฉายพลาสมายังแข็งแรงกว่าการรักษาแบบปกติที่ไม่มีการฉายพลาสมาถึง 3.5 เท่า นอกจากนี้ การศึกษาในหลอดทดลองของเซลล์ที่ได้รับการฉายพลาสมานาน 5-15 วินาที ยังแสดงให้เห็นว่ามีการทำงานของโปรตีนที่เป็นตัวบ่งชี้การสร้างกระดูกที่เพิ่มขึ้นอีกด้วย

การบูรณาการระหว่างสาขาการแพทย์และวิศวกรรมนี้ทำให้เกิดเทคโนโลยีทางการแพทย์ใหม่ ๆ ที่ไม่เคยมีมาก่อน ในอนาคตการผสมผสานวิธีการรักษานี้เข้ากับการรักษากระดูกหักในปัจจุบัน คาดว่าจะช่วยให้เกิดการเชื่อมต่อกระดูกที่มีประสิทธิภาพและใช้เวลาฟื้นตัวสั้นลง

 

1
A and B show representative images (left image of each pair) of 3D-reconstructed μ-CT and coronal plane views (right image of each pair) for untreated control and plasma treated non-union fracture models, respectively, at 8 weeks after the surgery.

 

แหล่งที่มาของข่าวและภาพ

1. Saito K, Toyoda H, Okada M, Oh J-S, Nakazawa K, Ban Y, et al. (2024) Fracture healing on non-union fracture model promoted by non-thermal atmospheric-pressure plasma. PLoS ONE 19(4): e0298086. https://doi.org/10.1371/journal.pone.0298086

2. https://www.goodnewsnetwork.org/new-way-to-heal-broken-bones-faster-may-also-make-them-3x-stronger/

Created by
แก้วนภา โพธิ นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ