แพนโดร่า (Pandora) ผู้ผลิตเครื่องประดับชื่อดังระดับโลกจากประเทศเดนมาร์ก เตรียมเปลี่ยนมาใช้เพชรสังเคราะห์จากห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ (Laboratory Grown Diamond) แทนเพชรจากการทำเหมืองเพื่อลดปัญหาสิ่งแวดล้อม เช่น การทำลายป่า การปนเปื้อนของสารพิษ และมลภาวะในสิ่งแวดล้อม รวมถึงแก้ปัญหาแรงงานทาสจากการทำเหมือง
พฤษภาคม พ.ศ. 2564 อเล็กซานเดอร์ เลซิก (Alexander Lacik) ผู้บริหารระดับสูงของแพนโดร่า เผยว่ากำลังเตรียมเปิดตัวเครื่องประดับคอลเลคชันแรกที่ผลิตด้วยเพชรสังเคราะห์ภายในปี พ.ศ. 2565 และจะจำหน่ายในร้านแพนโดร่าทุกสาขาทั่วโลกในปี พ.ศ. 2568 นอกจากนี้ยังวางแผนลดการใช้ทองคำ เงิน และโลหะอื่น ๆ ที่ได้จากการทำเหมือง โดยหันมาใช้ทองคำ เงิน และโลหะที่ได้จากการรีไซเคิลแทนทั้งหมดภายในปี พ.ศ. 2568 เช่นกัน
เพชรสังเคราะห์มีคุณสมบัติเหมือนเพชรจากธรรมชาติทุกประการ คือ มีโครงสร้างทางเคมีประกอบด้วยธาตุคาร์บอน (Carbon: C) ประมาณ 99% เรียงตัวเป็นผลึกทรงแปดหน้า (Octahedron) มีระดับความแข็งของแร่สูงสุดตามโมห์สเกล (Mohs’Scale of Hardness) เพียงแต่เกิดขึ้นในห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ ด้วยเทคนิคการบีบอัดด้วยความดัน และอุณหภูมิสูง (High-Pressure High Temperature) และการตกเคลือบไอระเหยเคมี (Chemical Vapor Deposition) ต่างจากเพชรปลอม (Cubic Zirconia: CZ) ซึ่งแม้จะเกิดขึ้นในห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์เหมือนกัน แต่องค์ประกอบหลักคือธาตุเซอร์โคเนียม (Zirconium: Zr) ที่มีความแข็งน้อยกว่าเพชร
มีการตั้งข้อสงสัยว่าการผลิตเพชรสังเคราะห์นั้นไม่อาจสร้างระบบเศรษฐกิจที่ยั่งยืนได้ เนื่องจากการผลิตเพชรสังเคราะห์ต้องใช้ความร้อนสูงตลอดเวลาทำให้เกิดการใช้พลังงาน และเชื้อเพลิงจำนวนมหาศาล แต่บริษัทแพนโดร่าชี้แจงว่า พลังงานที่ใช้ในการผลิตเป็นพลังงานหมุนเวียนถึง 60% และมีเป้าหมายในการเปลี่ยนไปใช้พลังงานหมุนเวียนทั้งหมดภายในปีหน้า
การสังเคราะห์เพชรเกิดขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2422 และได้รับการพัฒนาวิธีการจนทำให้ได้เพชรที่มีราคาถูกลง จนสามารถนำมาใช้ในอุตสาหกรรมผลิตอุปกรณ์เจาะ ตัด ขัด ได้ในปี พ.ศ. 2493 ทำให้ปัจจุบันมีการนำเพชรสังเคราะห์มาใช้ในงานอุตสาหกรรมถึง 98% ส่วนการนำเพชรสังเคราะห์มาใช้ผลิตเครื่องประดับ เริ่มในปี พ.ศ. 2558 มีปริมาณ 1% ของเพชรทั้งหมดในโลกเท่านั้น การเปลี่ยนมาใช้เพชรสังเคราะห์ซึ่งมีราคาถูกกว่าเพชรจากธรรมชาติ ทำให้เราสามารถซื้อเครื่องประดับเพชรในราคาถูกลง เพราะไม่มีต้นทุนการทำเหมือง อีกทั้งส่งเสริมการลดมลภาวะทางสิ่งแวดล้อม และยังสนับสนุนแนวคิดเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนที่ดีกับโลกอีกด้วย
เรียบเรียงโดย: ปวิตา ลิขิตเดชาโรจน์ นักวิชาการ กองวิชาการวิทยาศาสตร์ สำนักวิชาการพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์
แหล่งที่มา:
Pandora says laboratory-made diamonds are forever. [ออนไลน์]. 2564, แหล่งที่มา:https://www.bbc.com/news/business-56972562 [10 พฤษภาคม 2564]
Danish jewellery maker Pandora drops mined diamonds. [ออนไลน์]. 2564, แหล่งที่มา:https://www.globaltimes.cn/page/202105/1222781.shtml [10 พฤษภาคม 2564]
Pandora Is Replacing All Mined Diamonds With Lab-Grown Ones. [ออนไลน์]. 2564, แหล่งที่มา: https://www.greenmatters.com/p/pandora-diamonds [10 พฤษภาคม 2564]
Diamond Foundry ปลูกเพชรจากห้องแล็บ. [ออนไลน์]. 2564, แหล่งที่มา: https://www.prachachat.net/ict/news-48038 [10 พฤษภาคม 2564]