
นักวิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) ได้พัฒนายาเม็ดรูปดาว 6 แฉก ซึ่งสามารถช่วยให้ผู้ป่วยโรคเรื้อรังหรือผู้ที่ต้องรับประทานยาอย่างต่อเนื่องลดความถี่ในการกินยาลงเหลือเพียงสัปดาห์ละครั้ง
ยาเม็ดมหัศจรรย์นี้เป็นผลงานการวิจัยและพัฒนาของ จิโอวานนี่ ทราเวอร์โซ (Giovanni Traverso) แพทย์ระบบทางเดินอาหารจากโรงพยาบาลบริกแฮมแอนด์วูเมน (Brigham and Women’s Hospital) และรองศาสตราจารย์ด้านวิศวกรรมเครื่องกลที่ MIT โดยในปี 2016 ทีมวิจัยได้เผยต้นแบบอุปกรณ์นี้ ตัวยาถูกออกแบบมาให้เป็นแคปซูลขนาดใกล้เคียงกับมัลติวิตามิน แต่เมื่อกลืนลงสู่กระเพาะอาหาร แคปซูลจะละลายและขยายตัวเป็นรูปดาว 6 แฉก ขนาดใหญ่พอที่จะไม่สามารถเคลื่อนผ่านช่องไพโลรัส (Pylorus) ที่เป็นทางออกของกระเพาะอาหารไปยังลำไส้เล็กได้ ทำให้ยาคงอยู่ในกระเพาะอาหารได้นาน และค่อย ๆ ปล่อยตัวยาออกมาอย่างต่อเนื่องจากแต่ละแฉก หลังจากนั้นประมาณ 1 สัปดาห์ แฉกของยาจะหักออกเอง ทำให้ชิ้นส่วนที่เหลือสามารถเคลื่อนที่ผ่านระบบทางเดินอาหารต่อไปได้ตามปกติ โดยต่อมา บริษัท ลินดรา เทอราพิวติกส์ (Lyndra Therapeutics) ซึ่งเป็นบริษัทที่แยกตัวออกมาจาก MIT ได้นำอุปกรณ์ดังกล่าวไปพัฒนาต่อยอดเพื่อทดลองทางคลินิกกับผู้ป่วย
ปัจจุบัน นวัตกรรมยานี้กำลังเข้าสู่ การทดลองทางคลินิกระยะที่ 3 ซึ่งเป็นการทดลองในกลุ่มผู้ป่วยจำนวนมาก เพื่อยืนยันประสิทธิภาพและความปลอดภัยก่อนการอนุมัติใช้งานจริง โดยเริ่มทดลองกับยา ริสเปอริโดน (Risperidone) ซึ่งเป็นยารักษาโรคจิตเภทที่ผู้ป่วยส่วนใหญ่ต้องรับประทานวันละครั้ง
การทดลองระยะที่ 3 ได้ดำเนินการกับผู้ป่วย 83 รายใน 5 สถานที่ทั่วสหรัฐอเมริกา โดยมีผู้ป่วย 45 รายเข้าร่วมการศึกษาครบ 5 สัปดาห์ และได้รับแคปซูลริสเปอริโดนสัปดาห์ละ 1 แคปซูล นักวิจัยได้ติดตามปริมาณยาในกระแสเลือดของผู้ป่วยทุกสัปดาห์ และพบว่าระดับยาในกระแสเลือดเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในวันแรกหลังรับประทานและค่อย ๆ ลดลงอย่างช้า ๆ ในสัปดาห์ถัดมา โดยปริมาณยาทั้งหมดอยู่ในระดับที่เหมาะสม นอกจากนี้ยังพบว่าระดับยาคงที่สม่ำเสมอมากกว่าการรับประทานยาทุกวันอีกด้วย
รองศาสตราจารย์ ทราเวอร์โซ กล่าวว่า เทคโนโลยีนี้จะช่วยให้การจัดการการจ่ายยาง่ายขึ้น และผู้ป่วยจะได้รับยาอย่างเหมาะสมตามอาการ นอกจากนี้ยังมีความเป็นไปได้ที่จะดัดแปลงเทคโนโลยีนี้ไปใช้กับยาประเภทอื่น ๆ ได้ในอนาคต นวัตกรรมยาเม็ด 6 แฉกนี้ ถือเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญทางการแพทย์ที่น่าจับตา หากประสบความสำเร็จและสามารถนำไปใช้กับยาประเภทอื่น ๆ ได้อย่างแพร่หลาย จะช่วยให้การรักษาโรคต่าง ๆ สะดวกสบายและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยงานวิจัยนี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Lancet Psychiatry ฉบับเดือนกรกฎาคม 2025
อ้างอิง
https://scitechdaily.com/mits-once-a-week-pill-could-revolutionize-schizophrenia-treatment/
https://news.mit.edu/2025/weekly-pill-schizophrenia-shows-promise-clinical-trials-0610