TITANIC ตำนานยักษ์ใหญ่ใต้น้ำที่อาจหายไปในอนาคต
Science News Categories
Publish date
16/09/2024
Image
1

ซากมหึมาของเรือไททานิก กำลังแสดงสัญญานแห่งความผุกร่อนและกลับคืนสู่ธรรมชาติ

วันที่ 8 กันยายนที่ผ่านมา เว็บไซต์ BBC เผยแพร่บทความเกี่ยวกับซากเรือไททานิกที่กำลังผุกร่อนจากปัจจัยหลายอย่างร่วมกัน และคาดว่าอีกหลายร้อยปีต่อจากนี้ ไททานิกอาจจะไม่เหลืออะไรให้เราดูนอกจากพวกกระเบื้องเซรามิก

เรือไททานิกที่มีความยาว 269 เมตร อัปปางโดยหักแยกออกเป็น 2 ท่อนคือ ส่วนหัวและท้ายเรือ จมลงสู่ก้นมหาสมุทรลึกกว่า 3.8 กิโลเมตร มานานกว่า 112 ปี กำลังผุกร่อนลงไปเรื่อย ๆ ตามกาลเวลา จากการศึกษาของนักวิทยาศาสตร์ พบว่ามีปัจจัยหลายประการที่ช่วยกันเปลี่ยนสภาพซากไททานิกให้ผุพังลงไปเรื่อย ๆ ได้แก่ สภาพน้ำ แรงดันสูงใต้มหาสมุทร กระแสน้ำลึกที่แม้จะไม่รุนแรงแต่ก็มีผล ร่วมด้วยเหล่าแบคทีเรียชนิดต่าง ๆ ใต้ท้องทะเลลึก ส่งผลให้เกิดกระบวนการเกิดสนิมที่โครงเหล็กเรือ โดยมีแบคทีเรียกลุ่มใหม่ที่นักวิจัยเพิ่งพบในซากเรือที่มีความสามารถในก่อสนิม และย่อยสลายเหล็กได้ โดยมีแบคทีเรียหลายชนิดทำงานร่วมกันเพื่อย่อยสลายไททานิกอย่างช้า

 

1
By Courtesy of NOAA/Institute for Exploration/University of Rhode Island (NOAA/IFE/URI). - http://www.gc.noaa.gov/gcil_titanic.html, Public Domain, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=18643198

 

นักวิทยาศาสตร์พบว่า ซากเหล็กจากไททานิกที่ถูกย่อยสลาย ปลดปล่อยธาตุเหล็กจำนวนมากออกมาโดยรอบ ซึ่งเป็นประโยชน์กับสิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเลที่ต้องการธาตุเหล็ก อย่างปะการัง ดาวทะเล และอื่น ๆ

มีการประมาณการว่า “เหล็กส่วนหัวเรือ” ที่เป็นภาพจำของเรือไททานิก อาจจะผุกร่อนจนหายไปภายในเวลา 280-420 ปี และอาจใช้เวลาอีกหลายร้อยปี ไททานิก จะไม่เหลือสภาพเดิม เหลือเพียงกระเบื้องเซรามิกชั้นดีที่ย่อยสลายไม่ได้

 

1
เชื้อแบคทีเรียกินสนิมเหล็ก Halomonas titanicae 
Image courtesy of Dr. Henrietta Mann (Dalhousie University, Canada)

 

1
Image courtesy of RMS Titanic Inc.

 

Created by
เรียบเรียงโดย วารี อัศวเกียรติรักษา นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ