เตือนภัย "เห็บกัด" ป่วยโรคไข้สูงเกล็ดเลือดต่ำถึงขั้นเสียชีวิต พบแล้วในไทย!
Science News Categories
Publish date
16/07/2025
Image

คนเลี้ยงสัตว์ต้องระวัง! สังเกตอาการคล้ายไข้เลือดออกแต่ตรวจไม่พบ อาจเป็นสัญญาณเตือนจากภัยเงียบที่มากับเห็บสุนัข

 

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาโพสต์เตือนภัยประชาชนผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ให้ระวังอันตรายจาก "เห็บกัด" ซึ่งเป็นพาหะของโรคที่อันตรายถึงชีวิตอย่าง "ไข้สูงเกล็ดเลือดต่ำ (SFTS)" หรือ Severe Fever with Thrombocytopenic Syndrome


จากการศึกษาของศูนย์ฯ ที่ดำเนินการมานานกว่า 5 ปี พบว่าโรค SFTS ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสนี้ ได้แพร่กระจายอยู่ในหลายพื้นที่ของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นชานเมืองกรุงเทพฯ หรือในต่างจังหวัด โดยเฉพาะภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก ซึ่งคาดว่าอาจพบได้ทุกภาคของประเทศ แม้เดิมโรคนี้จะถูกจำกัดวงอยู่ในประเทศจีน เกาหลี และญี่ปุ่น แต่ปัจจุบันมีรายงานเพิ่มขึ้นในเวียดนามและพม่า ทำให้การพบโรคนี้ในไทยไม่ใช่เรื่องแปลก และอาจมีอุบัติการณ์สูงกว่าที่คิด


ศ.นพ.ยง ย้ำเตือนว่า โรค SFTS สามารถทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ โดยมีรายงานผู้เสียชีวิตในประเทศไทยแล้วอย่างน้อย 2 ราย พาหะสำคัญที่นำโรคนี้ในไทยคือ "เห็บสุนัข" (Rhipicepharus sanquineus) ซึ่งเป็นสายพันธุ์หลักที่พบได้ทั่วไปในบ้านเรา
สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการไข้สูงโดยไม่ทราบสาเหตุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีอาการคล้ายไข้เลือดออกแต่ตรวจไม่พบเชื้อไข้เลือดออก มีโอกาสสูงที่จะเป็นโรค SFTS ซึ่งทางศูนย์ฯ ได้ทำการศึกษาอย่างต่อเนื่องและตีพิมพ์ผลงานวิจัยในวารสารวิทยาศาสตร์ระดับนานาชาติ เพื่อให้ข้อมูลเป็นที่รู้จักและตระหนักถึงความสำคัญ


ปัจจุบัน แพทย์ส่วนใหญ่ในประเทศไทยยังไม่คุ้นเคยกับโรคนี้และไม่มีวิธีการตรวจวินิจฉัยที่แพร่หลาย ทำให้เชื่อว่าโรคนี้อาจพบได้ทั่วไปแต่ไม่เคยถูกรายงานอย่างเป็นทางการ ด้วยความรุนแรงของโรคที่นอกจากจะทำให้มีไข้สูงและเกล็ดเลือดต่ำแล้ว ยังอาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้ และที่สำคัญคือ ยังไม่มียารักษาจำเพาะเจาะจงและวัคซีนป้องกัน


ดังนั้น หากมีข้อสงสัยว่าตนเองหรือบุคคลใกล้ชิดอาจป่วยเป็นโรค SFTS ทางศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยินดีให้ความร่วมมือในการตรวจวินิจฉัย เพื่อช่วยให้แพทย์ทั่วไปสามารถวินิจฉัยโรคได้อย่างแม่นยำยิ่งขึ้น และนำไปสู่มาตรการควบคุมโรคในอนาคตเพื่อปกป้องสุขภาพของประชาชน
 

อ้างอิง

https://www.thaipbs.or.th/now/content/2906
https://www.tnnthailand.com/health/205217/

Created by
เรียบเรียงโดย สุมัยญา เรืองปราชญ์ กองสื่อสารวิทยาศาสตร์ ​องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ