
ใครว่าศิลปะกับวิทยาศาสตร์เป็นสิ่งที่อยู่ตรงข้ามกัน แท้จริงแล้วสองสิ่งนี้ไม่สามารถแยกจากกันได้อย่างสิ้นเชิง จะเห็นตัวอย่างจาก ลีโอนาร์โด ดา วินชี (Leonardo da Vinci) ศิลปินยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการ (Renaissance) ช่วงศตวรรษที่ 15-16 ผลงานของเขามักจะแฝงไปด้วยวิทยาศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาเรื่องกายวิภาคมาช่วยให้การวาดภาพกล้ามเนื้อคนและสัตว์ให้สมจริง การสเก็ตช์ภาพสิ่งประดิษฐ์ในจินตนาการโดยใช้กลไกทางวิทยาศาสตร์เข้ามาช่วย หรือการที่ศิลปินใช้คณิตศาสตร์มาคำนวณเพื่อสร้างสถาปัตยกรรมและประติมากรรมให้ได้สัดส่วนที่สวยงาม


จนมาถึงปัจจุบัน งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ก็มักอาศัยศิลปะในการอธิบายให้ผู้อ่านเข้าใจมากขึ้น อย่างการสร้างแบบจำลอง การสเก็ตช์ภาพสิ่งมีชีวิต ไปจนถึงศิลปะการนำเสนอข้อมูล เรียกได้ว่าศิลปะก็มีบทบาทในงานวิทยาศาสตร์ และในทางกลับกันวิทยาศาสตร์นั้นมีบทบาทในงานศิลปะตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน แต่หากสังเกตดูอย่างถี่ถ้วนแล้ว สองสาขานี้ไม่เพียงส่งเสริมซึ่งกันและกัน แต่อาจอยู่ด้วยกันอย่างแนบเนียนเลยก็ว่าได้ เช่น ลวดลายและสีสันของสิ่งมีชีวิต หรือการเรียงตัวอย่างมีระบบจนเกิดเป็นลำดับทางคณิตศาสตร์ เป็นต้น


แล้วในแง่ของงานศิลปะ วิทยาศาสตร์แทรกซึมอยู่อย่างไร ? ขอยกตัวอย่างพฤติกรรมของสีที่ถูกระบายลงบนกระดาษแล้วเกิดเป็นผลงานที่สวยงามนั้น ล้วนเกิดจากปรากฏการณ์ทางวิทยาศาสตร์อย่าง “การแพร่” (Diffusion) ของโมเลกุลเม็ดสี ปรากฏการณ์นี้จะเห็นได้ชัดในการผสมสีน้ำ (Watercolor) ด้วยน้ำบริสุทธิ์ เม็ดสีจะกระจายตัวผสมกับน้ำอย่างช้า ๆ จากบริเวณที่มีความเข้มข้นของเม็ดสีสูง ไปสู่บริเวณที่มีความเข้มข้นต่ำกว่า จนกว่าจะผสมกันอย่างสมดุล โดยปราศจากการเขย่า การคน และแรงใด ๆ จากภายนอก

การลงสีน้ำบนกระดาษที่กำลังเปียก (เทคนิคเปียกบนเปียก: wet on wet) ก็แสดงปรากฏการณ์นี้เช่นกัน เมื่อสีที่ถูกผสมกับน้ำ ถูกป้ายลงบนกระดาษ โมเลกุลของเม็ดสีจะเคลื่อนที่ไปยังบริเวณที่มีความเข้มข้นต่ำกว่า นั่นคือ แทรกเข้าไปในเนื้อกระดาษที่กำลังชุ่มไปด้วยน้ำหรือพื้นที่ว่างเปล่า ศิลปินบางท่านยังเลือกใช้เทคนิคนี้กับการระบายสีที่ต้องการให้ผสมเข้าด้วยกัน เกิดเป็นภาพสีน้ำที่มีความละมุน นุ่มนวล อ่อนโยน อย่างไรก็ดี อารมณ์ของภาพก็ขึ้นอยู่กับสีที่เลือกใช้อีกด้วย


นอกจากตัวอย่างที่ยกมาแล้ว วิทยาศาสตร์สาขาอื่น ๆ ที่ยังคงแฝงอยู่ในงานศิลปะอื่นอีกแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นด้านประติมากรรมที่เกี่ยวข้องกับสมบัติทางวัสดุศาสตร์ที่ส่งผลต่อลักษณะผลงาน และภาพพิมพ์ที่อาศัยหลักการสะท้อนของแม่พิมพ์เพื่อให้ได้ภาพจริงที่ต้องการ สุดท้ายแล้วทั้งวิทยาศาสตร์และศิลป์ก็เป็นความรู้ประกอบกัน ขับเคลื่อนกันและกันอย่างไม่สามารถละทิ้งสิ่งใดสิ่งหนึ่งไว้ข้างหลังได้