จระเข้ดึกดำบรรพ์สายพันธุ์ใหม่ ชนิดที่ 12 ของไทยมีลักษณะหัวคล้ายตัวเหี้ยในปัจจุบัน บ่งบอกถึงความหลากหลายและการปรับตัวของจระเข้โบราณเพื่อหากิน
เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2567 วารสารวิชาการ Zoological เผยแพร่บทความวิชาการเรื่อง New Cretaceous neosuchians (Crocodylomorpha) from Thailand bridge the evolutionary history of atoposaurids and paralligatorids เป็นการรายงานการค้นพบซากดึกดำบรรพ์จระเข้สายพันธุ์ใหม่ของประเทศไทย จากแหล่งขุดค้นภูสูง จังหวัดสกลนคร หมวดหินเสาขัว ยุคครีเตเชียสตอนปลาย อายุประมาณ 130 ล้านปี โดยความร่วมมือของนักบรรพชีวินวิทยาประเทศไทยและประเทศฝรั่งเศส ประกอบด้วยกระดูกสันหลัง แผ่นเกล็ด กระดูกแขนขา และกะโหลก พบว่าจระเข้สายพันธุ์นี้มีขนาดยาวไม่เกิน 1 เมตรถือเป็นจระเข้แคระ โดยเฉพาะกะโหลกที่มีความแตกต่างกับจระเข้สายพันธุ์อื่น ๆ มีขนาดที่สั้นคล้ายคลึงกับกะโหลกของสัตว์กลุ่มเหี้ยจึงเป็นที่มาของชื่อวิทยาศาสตร์ Varanosuchus sakonnakhonensis
จากความสมบูรณ์ของซากดึกดำบรรพ์ที่ค้นพบทีมวิจัยจึงสามารถศึกษาข้อมูลสายพันธุ์และคาดการณ์ของพฤติกรรมได้ จากลักษณะของกระดูกบ่งบอกถึงลักษณะหน้าที่สั้น มีแขนขายาวที่เหยียดตรงขนานกับพื้นยามที่เดินหรือวิ่ง จึงส่งผลให้มีความคล่องแคล่วในการเคลื่อนที่บนบกมากกว่าจระเข้สายพันธุ์อื่น ก่อนหน้านี้ที่หมวดหินเสาขัวของประเทศไทยมีการค้นพบจระเข้ดึกดำบรรพ์มาแล้วจำนวน 2 สายพันธุ์ จึงทำให้ปัจจุบันหมวดหินเสาขัวเป็นหมวดหินที่มีความหลากหลายของจระเข้ดึกดำบรรพ์สูงมากในกลุ่มหินโคราช และแต่ละชนิดมีวิวัฒนาการแตกต่างกันออกไปเพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกันได้ ลดการแย่งพื้นที่อาศัย
แหล่งอ้างอิง
Yohan Pochat-Cottilloux, Komsorn Lauprasert, Phornphen Chanthasit, Sita Manitkoon, Jérôme Adrien, Joël Lachambre, Romain Amiot, Jeremy E Martin. 2024. New Cretaceous neosuchians (Crocodylomorpha) from Thailand bridge the evolutionary history of atoposaurids and paralligatorids. Zoological Journal of the Linnean Society.