สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA เผยภาพพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดไฟป่าด้วยแบบจำลองระบบสารสนเทศบริเวณ 17 จังหวัดภาคเหนือของไทย คาดจะสามารถช่วยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำข้อมูลไปวางแผนเพื่อการจัดการเชื้อไฟ และจัดทำแนวกันไฟในพื้นที่เสี่ยง ซึ่งจะช่วยลดความรุนแรงและความเสียหายที่จะเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ช่วงเดือนธันวาคมถึงเดือนเมษายนของทุกปี เป็นช่วงที่ประเทศไทยจะพบกับเหตุการณ์ไฟไหม้ป่า ซึ่งความรุนแรงของไฟส่งผลให้สภาพแวดล้อมในพื้นที่ดังกล่าวกลายเป็นพื้นที่เสื่อมโทรม ส่งผลกระทบทางตรงต่อสิ่งมีชีวิตที่อาศัยในพื้นที่เกิดไฟไหม้ และส่งผลกระทบทางอ้อมต่อสุขภาพของผู้คนที่อาศัยโดยรอบ จากรายงานการดับไฟป่าของหน่วยงานควบคุมไฟป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พบพื้นไฟไหม้ป่าในปี 2565 จำนวน 38,245.58 ไร่ ปี 2566 จำนวน 185,979.47 ไร่ และปี 2567 (ข้อมูลระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2566 ถึงวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2567) พบไฟไหม้ป่าจำนวน 38,140.97 ไร่ ทั้งนี้ GISTDA ได้ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศมาช่วยจัดเก็บข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล จุดความร้อนและนำไปประเมินด้วยแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ได้ผลเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดไฟไหม้ป่า โดยเดือนกุมภาพันธ์ 2567 พบพื้นที่บริเวณ 17 จังหวัดภาคเหนือมีความเสี่ยงต่อการเกิดไฟไหม้ป่า และพบว่ามี 9 จังหวัดที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดไฟไหม้ป่า ได้แก่ ตาก ลำปาง เพชรบูรณ์ เชียงใหม่ นครสวรรค์ แม่ฮ่องสอน อุตรดิตถ์ พิษณุโลก และน่าน โดยส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เกษตร พื้นที่เขต สปก. ป่าอนุรักษ์ และป่าสงวนแห่งชาติ ทั้งนี้ประชาชนที่อาศัยอยู่ใกล้พื้นที่ไฟไหม้ป่าควรสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาเมื่ออยู่ในที่โล่งแจ้ง เพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจตามมาโดยเฉพาะโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ
แหล่งที่มาของข่าว
https://portal.dnp.go.th/Content/firednp?contentId=15705
https://www.gistda.or.th/news_view.php?n_id=7459&lang=EN
ผู้เรียบเรียง : ศักดิ์ชัย จวนงาม นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ