ช่วงเดือนมีนาคม ทะเลไทยร้อนระอุแตะ 30 องศาเซลเซียส นักวิทยาศาสตร์ทางทะเลคาดว่าช่วงเดือนเมษายน-กรกฎาคมนี้ อ่าวไทยและอันดามัน จะเกิดปรากฎการณ์ปะการังฟอกขาวอย่างรุนแรง ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเล ความมั่นคงทางอาหาร และเศรษฐกิจการท่องเที่ยว
วันที่ 4 มีนาคม 2567 ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เตือนว่าช่วงเดือนเมษายน-กรกฎาคมนี้ อ่าวไทยและอันดามัน อาจเกิดปะการังฟอกขาวอย่างรุนแรง เนื่องจากน้ำทะเลในช่วงเดือนมีนาคม มีอุณหภูมิสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยที่สถานีตรวจวัดทางทะเลแบบโทรมาตร อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี วัดอุณหภูมิน้ำทะเลแบบเรียลไทม์ พบว่าอุณหภูมิน้ำสูงเกิน 31 องศาเซลเซียสไปแล้ว ซึ่งสูงกว่าปีที่แล้วในช่วงเวลาเดียวกัน ประกอบกับหน่วยงานองค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา (NOAA) รายงานว่า ประเทศในทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงประเทศไทยกำลังเผชิญกับปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Niño) ไปจนถึงช่วงเดือนมิถุนายน ทำให้อุณหภูมิน้ำทะเลในช่วงครึ่งปีแรกร้อนจนทะลุสถิติเดิมในปีก่อน ซึ่งปรากฏการณ์ดังกล่าว เป็นความผิดปกติของธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับกระแสลม และกระแสน้ำของสองฝั่งทวีป โดยปกติแล้วกระแสลมจะพัดจากฝั่งตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิก (ทวีปอเมริกาใต้) ไปยังฝั่งตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก (ทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) ทำให้กระแสน้ำอุ่นที่ถูกลมสินค้าพัดไปทางฝั่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีระดับที่สูงขึ้น และระเหยกลายเป็นไอน้ำ เกิดเป็นพายุฝน แต่อย่างไรก็ตาม ช่วงที่กระแสลมและกระแสน้ำมีสภาวะที่ไม่ปกติ เรียกว่า “ปรากฏการณ์เอลนีโญ” จะเกิดเมื่อค่าความกดอากาศของทั้งสองทวีปต่างกันเล็กน้อย ส่งผลให้ลมสินค้าที่พัดจากทวีปอเมริกาใต้ไปทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เบาลงกว่าปกติ กระแสน้ำอุ่นจึงพัดกลับไปที่ฝั่งทวีปอเมริกาใต้ ทำให้ผิวน้ำของฝั่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีน้ำเย็นที่อยู่ด้านล่างขึ้นมาแทนที่ ผลกระทบที่ตามมา คือเกิดความแห้งแล้ง เพราะน้ำเย็นระเหยเป็นไอได้น้อย ฝนจึงตกน้อยลง เป็นผลให้ประเทศในทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมถึงประเทศไทยเกิดสภาวะแห้งแล้งฉับพลัน รวมถึงอุณหภูมิพื้นผิวน้ำทะเลสูงกว่าค่าเฉลี่ย ซึ่งทำให้ปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวที่เกิดเป็นปกติในช่วงฤดูร้อนของประเทศไทย ยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นไปอีก เมื่อมีปรากฏการณ์เอลนีโญเกิดขึ้นร่วมด้วย ในขณะเดียวกันก็เริ่มมีรายงานเหตุการณ์ปะการังฟอกขาวจากหลายพื้นที่ประสบปรากฏการณ์เอลนีโญ เช่น Great Barrier Reef ประเทศออสเตรเลีย เกิดแนวปะการังฟอกขาวยาว 1,100 กิโลเมตร และหลายประเทศในมหาสมุทรอินเดียเริ่มประกาศเตือนภัยในประเด็นนี้
ปะการังฟอกขาว (coral bleaching) เป็นปรากฏการณ์ที่เนื้อเยื่อปะการังมีสีซีดหรือจางลงจากการสูญเสียสาหร่ายซูแซนเทลลี (zooxanthellae) ที่ดํารงชีวิตอยู่ร่วมกับปะการัง “แบบพึ่งพากัน” (mutualism) โดยสาหร่ายจะทําหน้าที่สังเคราะห์แสงพื่อสร้างอาหาร รวมถึงการสร้างสีสันให้แก่ตัวปะการัง ส่วนปะการังให้ที่อยู่แก่สาหร่าย แต่เมื่อใดที่สภาพแวดล้อมในทะเลไม่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตของสาหร่าย เช่น อุณหภูมิน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น สาหร่ายซูแซนเทลลีจะออกจากตัวปะการังเพื่อความอยู่รอด ส่งผลให้ปะการังเหลือเพียงโครงสร้างหินปูนสีขาว นอกจากนั้นมลพิษจากการใช้ประโยชน์ทางทะเลของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นการปล่อยน้ำเสีย การใช้ครีมกันแดด การทิ้งขยะตามแนวชายหาดก็ล้วนมีผลทำให้เกิดปะการังฟอกขาวด้วยเช่นกัน ซึ่งนอกจากจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศในทะเลแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารและเศรษฐกิจ เช่น การประมงและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ โดยชาวประมงไม่สามารถจับสัตว์น้ำได้ ส่งผลให้อาหารทะเลราคาสูงขึ้น และรวมไปถึงเศรษฐกิจการท่องเที่ยวอีกด้วย
อ้างอิงเนื้อหา :
- https://www.thaipbs.or.th/news/content/337727
- https://thailandcoralbleaching.dmcr.go.th/th/blog_coral/detail/83?fbclid=IwAR24dJ_r3qrdvPN6A3NC2qYZWXjNokdeZa4hD6BjMDYsgxXX3D72DrmQPS4
- https://www.setinvestnow.com/th/knowledge/article/389-tsi-how-elnino-effects-thai-investment
- https://www.theverge.com/2024/2/29/24085921/el-nino-forecast-record-heat-2024?fbclid=IwAR3lYynb8HdoeysE9gBwgMo3vYh12hOtHRIJSuGl7964a1Agip9Z2vcQU3w
อ้างอิงรูปภาพ : https://www.trueplookpanya.com/dhamma/content/67857
ผู้เรียบเรียง : ศรสวรรค์ เลี่ยมทอง นักวิชาการ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ