นักวิทยาศาสตร์ไทย ร่วมค้นพบ ‘ฉลามผี’ ชนิดใหม่ของโลก ในทะเลอันดามันของประเทศไทย โดยตั้งชื่อว่า "คิเมียรา สุภาเพ” (Chimaera supapae)
วันที่ 20 มีนาคม 2567 เว็บไซต์ Live Science รายงานว่า นักวิจัยไทย คุณทัศพล กระจ่างดารา จากศูนย์วิจัยและพัฒนาการประมงทะเลภูเก็ต ได้ร่วมค้นพบฉลามสกุล Chimaera ชนิดใหม่ มีชื่อสามัญว่า “ฉลามผี” (Ghost shark) โดยค้นพบที่บริเวณนอกชายฝั่งทะเลอันดามันของจังหวัดภูเก็ต ประเทศไทย และตั้งชื่อว่า "คิเมียรา สุภาเพ” (Chimaera supapae) เพื่อเป็นเกียรติแก่ ศาสตราจารย์สุภาพ มงคลประสิทธิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านอนุกรมวิธานปลาของประเทศไทย และอดีตคณบดีคณะประมงมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
Chimaera เป็นหนึ่งในฉลามที่หายากมากในภูมิภาคของโลก โดยจากเดิมมีเพียง 53 ชนิด ซึ่ง C. supapae เป็นชนิดที่ 54 ที่เพิ่งถูกค้นพบใหม่ โดยอยู่ในลำดับเดียวกับปลาที่เก่าแก่ที่สุดที่ยังมีชีวิตอยู่ในทุกวันนี้ คือ Chimaeriformes ซึ่งเป็นปลากระดูกอ่อนที่แยกสายวิวัฒนาการออกมาจากปลาฉลามและกระเบน C. supapae อาศัยอยู่ตามไหล่ทวีปและสันเขาใต้มหาสมุทรลึกมากกว่า 500 เมตร แฝงตัวอยู่ในความมืดเพื่อหาอาหาร มันมีขนาดตัวยาวประมาณ 20 นิ้ว มีหัวโต จมูกสั้น ดวงตารูปไข่ขนาดใหญ่สีรุ้ง และมีครีบอกที่กว้างคล้ายขนนก โดยนักวิทยาศาสตร์ตั้งข้อสังเกตว่ารูปร่างครีบที่เหมือนขนนกนี้ อาจช่วยในด้านการเคลื่อนที่บนพื้นหินได้สะดวกยิ่งขึ้น โดยการค้นพบนี้ถูกตีพิมพ์เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2567 ในวารสาร Raffles Bulletin of Zoology
อ้างอิงเนื้อหาและรูปภาพ :
Ebert, D.A., Krajangdara, T., Fahmi., and Kemper, Jenny. (2024). Chimaera supapae (Holocephali: Chimaeriformes: Chimaeridae), a new species of chimaera from the Andaman Sea of Thailand. The Raffles Bulletin of Zoology, 72:84-90. https://doi.org/10.26107/RBZ-2024-
เรียบเรียงโดย
ศรสวรรค์ เลี่ยมทอง
นักวิชาการ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ