นักประสาทวิทยายืนยัน ดูหนัง ต้องใช้สมอง
Science News Categories
Publish date
12/11/2024
Image
1

สมองเลือกได้ว่าต้องใช้ส่วนไหนตอบสนองกับฉากที่กำลังรับชมจากภาพยนตร์

 

วันที่ 6 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เว็บไซต์ sciencedaily รายงานผลการศึกษาของทีมนักประสาทวิทยาจาก Massachusetts Institute of Technology (MIT) ในการศึกษาการตอบสนองของสมองมนุษย์ขณะชมคลิปวิดีโอ จากทั้งภาพยนตร์ฮอลลีวูดและภาพยนตร์อิสระ พบว่าระบบเครือข่ายในสมองส่วนต่าง ๆ ได้รับการกระตุ้นแตกต่างกัน ตามความยากง่ายของเนื้อหาขณะที่ชม หากเนื้อหามีฉากที่ซับซ้อน เข้าใจยาก ต้องตีความ ต้องใช้ความรู้ความเข้าใจ สมองส่วน Executive Control (เกี่ยวข้องกับการควบคุมความคิด อารมณ์ พฤติกรรมต่าง ๆ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ตามที่ต้องการ และถือว่าเป็นความสามารถของสมองที่ใช้บริหารจัดการชีวิตในด้านต่าง ๆ ให้ประสบความสำเร็จ) จะแสดงบทบาทมากที่สุด ขณะที่ฉากง่าย ๆ ไม่ซับซ้อน เช่น บทสนทนาตรงไปตรงมา สมองจะสลับไปใช้ส่วนที่ทำหน้าที่จำเพาะนั้น ๆ  เช่น ส่วนประมวลภาษา แสดงให้เห็นว่าสมองมีการสลับหน้าที่ไปมาขึ้นกับเนื้อหาภาพยนตร์ที่กำลังชมอยู่

 

1
ภาพจากวารสารวิชาการ www.cell.com/action/showPdf?pii=S0896-6273%2824%2900726-8

 

ในการศึกษานี้ นักประสาทวิทยาใช้ข้อมูลจากโครงการ Human Connectome ที่มีวัตถุประสงค์ในการทำแผนที่สมองมนุษย์ จึงมีข้อมูลจากสแกนสมองมนุษย์ด้วย fMRI ผลที่ได้จากการศึกษานี้จึงเป็นเพียงค่าเฉลี่ย แต่ในอนาคตทีมวิจัยตั้งเป้าว่าจะศึกษาในเชิงลึกเจาะเฉพาะกลุ่มบุคคล เช่น อายุ สภาวะจิตใจ และศึกษาถึงเนื้อหาที่มีความจำเพาะเจาะจงในแต่ละเฟรมของภาพยนตร์นั้น ๆ ว่ามีผลต่อการทำงานของสมองอย่างไร เช่น ประเด็นบริบททางสังคม การตีความ หรือความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล รวมถึงฉากหลังในภาพด้วย

 

อ้างอิง

1. https://www.cell.com/neuron/fulltext/S0896-6273(24)00726-8?_returnURL=https%3A%2F%2Flinkinghub.elsevier.com%2Fretrieve%2Fpii%2FS0896627324007268%3Fshowall%3Dtrue

2. https://www.sciencedaily.com/releases/2024/11/241106132234.htm

 

Created by
เรียบเรียงโดย วารี อัศวเกียรติรักษา นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ