"3I/ATLAS" วัตถุลึกลับ ผู้มาเยือนจากนอกระบบสุริยะ!
Publish date
08/07/2025
Image

นักดาราศาสตร์ทั่วโลกตื่นเต้นกับการค้นพบครั้งสำคัญ เมื่อมีการตรวจพบ "3I/ATLAS" ซึ่งเป็นวัตถุจากต่างระบบสุริยะลำดับที่สามที่พุ่งเข้ามาในระบบดาวของเรา นับเป็นข่าวดีสำหรับวงการวิทยาศาสตร์ที่กำลังจะได้ศึกษาหลักฐานโดยตรงจากห้วงอวกาศอันไกลโพ้น

 

3I/ATLAS หรือเดิมชื่อ A11pl3Z ถูกตรวจพบครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2025 โดยกล้องโทรทรรศน์สำรวจในประเทศชิลี และได้รับการยืนยันโดย Minor Planet Center ของสหพันธ์ดาราศาสตร์สากลในวันเดียวกัน การค้นพบนี้เกิดขึ้นหลังจากที่โลกเคยต้อนรับผู้มาเยือนจากต่างดาวมาแล้วสองครั้งคือ ‘Oumuamua ในปี 2017 และ 2I/Borisov ในปี 2019 "สิ่งที่น่าทึ่ง [เกี่ยวกับ 3I/ATLAS] คือ เราค้นพบมันระหว่างที่มันกำลังเดินทางเข้ามาในระบบสุริยะ" Pamela Gay นักดาราศาสตร์จาก Planetary Science Institute กล่าว ซึ่งหมายความว่า นักวิทยาศาสตร์จะมีเวลาเพียงพอสำหรับการสังเกตการณ์อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

 

3
จนถึงปัจจุบันมีการตรวจพบวัตถุท้องฟ้าระหว่างดวงดาวเพียงสามดวงที่รู้จักในระบบสุริยะ ได้แก่
โอมูอามูอา (ซ้าย), 2I/Borisov (กลาง) และ 3I/ATLAS (ขวา)
ที่มาของภาพ https://www.sciencenews.org/article/third-interstellar-visitor-solar-system

​​​


ลักษณะเฉพาะและเส้นทางโคจร
ข้อมูลเบื้องต้นระบุว่า 3I/ATLAS เป็นดาวหางขนาดใหญ่ คาดว่ามีความกว้างประมาณ 6-12 ไมล์ (ประมาณ 9.6-19.3 กิโลเมตร) หรืออาจกว้างถึง 20 กิโลเมตร ทำให้มันอาจเป็นวัตถุระหว่างดวงดาวที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยตรวจพบ สิ่งที่ยืนยันว่ามันมาจากระบบดาวอื่น คือ ความเร็วอันน่าทึ่งที่มันเคลื่อนที่อยู่ มันมีความเร็ว กว่า 60 กิโลเมตรต่อวินาที หรือมากกว่า 37 ไมล์ต่อวินาที ความเร็วระดับนี้สูงเกินกว่าที่แรงโน้มถ่วงของดวงอาทิตย์จะสามารถจับมันไว้ได้ Richard Moissl จาก European Space Agency อธิบายว่าเส้นทางของมัน "หมายความว่ามันไม่ได้โคจรรอบดาวของเรา (ในระบบสุริยะ) แต่มาจากอวกาศข้างนอกระบบของเราและมันก็จะบินกลับออกไปที่นั่น"
ปัจจุบัน 3I/ATLAS กำลังอยู่ภายในวงโคจรของดาวพฤหัสบดีเล็กน้อย และคาดว่าจะเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดในเดือนตุลาคม 2025 (ช่วงปลายเดือน) มันจะโคจรผ่านวงโคจรของดาวอังคาร เส้นทางอาจจะบิดเล็กน้อยก่อนที่จะเคลื่อนที่ออกจากระบบสุริยะของเราในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า โดยคาดว่าจะยังคงสามารถมองเห็นได้จากโลกไปจนถึงปี 2026

 

comet orbit
แผนภาพแสดงเส้นทางการเคลื่อนที่ของ 3I/ATLAS ขณะที่มันโคจรผ่านระบบสุริยะ โดยจะโคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดในเดือนตุลาคม
ที่มาของภาพ NASA


โอกาสทองของการศึกษาจากห้วงลึก
การที่ 3I/ATLAS ถูกค้นพบขณะกำลังเดินทางเข้ามาในระบบสุริยะเป็นโอกาสทองสำหรับนักวิทยาศาสตร์ ซึ่งแตกต่างจาก ‘Oumuamua ที่หายไปอย่างรวดเร็ว Chris Lintott นักดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัย Oxford เน้นย้ำถึงความเร่งด่วนในการสังเกตการณ์มัน ก่อนที่มันจะได้รับความร้อนเมื่อเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ "เราสนใจมันในฐานะซากดึกดำบรรพ์ที่เยือกแข็งของระบบดาวเคราะห์อื่น ไม่ใช่ซากดึกดำบรรพ์ที่เยือกแข็งของระบบดาวเคราะห์ที่ถูกอบอย่างดีโดยดวงอาทิตย์ของเรา" เขากล่าวโดยมีความหมายว่า นี่คือโอกาสสุดพิเศษที่เราจะได้ศึกษาสิ่งที่ไม่ได้มีอยู่ในระบบสุริยะของเราได้อย่างจริงจังเป็นครั้งแรก Pamela Gay เสริมว่าข้อมูลเกี่ยวกับองค์ประกอบของ 3I/ATLAS เป็น "โอกาสที่หาได้ยากในการรับข้อมูลเกี่ยวกับระบบสุริยะอื่นที่เราไม่สามารถหาได้ด้วยวิธีอื่น" ข้อมูลนี้สามารถให้ความกระจ่างว่าดาวเคราะห์ก่อตัวขึ้นทั่วทั้งกาแล็กซีทางช้างเผือกได้อย่างไร และอาจเผยให้เห็นถึงศักยภาพของสิ่งมีชีวิตในอวกาศลึกอีกด้วย


อนาคตแห่งการสำรวจจักรวาล
นักดาราศาสตร์คาดหวังว่าจะได้เห็นผู้มาเยือนจากต่างระบบสุริยะมากขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการมีส่วนร่วมของนักวิทยาศาสตร์พลเมือง และสิ่งอำนวยความสะดวกใหม่ ๆ เช่น Vera Rubin Observatory ในชิลี ซึ่งจะเริ่มเก็บข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ในปีนี้
การค้นพบ 3I/ATLAS ได้ด้วยความรวดเร็วนั้นถือเป็นความโชคดีอย่างยิ่ง Lintott เล่าอย่างตื่นเต้นว่า "ผมได้ยินเกี่ยวกับวัตถุนี้ประมาณ 30 วินาทีหลังจากที่ผมตื่นขึ้นมา และผมก็หัวเราะออกมาดัง ๆ" เขาเสริมว่า "เรายอมรับความจริงที่ว่าเราจะต้องรอให้ Vera Rubin Observatory เปิดใช้งาน (เพื่อค้นหาวัตถุระหว่างดวงดาวอื่น) และการที่มีสิ่งอื่นพบวัตถุระหว่างดวงดาวในสัปดาห์นี้ก็เหมือนกับเหล่าเทพแห่งดาราศาสตร์กำลังหัวเราะเยาะเรา"


การมาเยือนของ 3I/ATLAS ไม่ได้เป็นเพียงแค่การค้นพบทางดาราศาสตร์ที่น่าตื่นเต้น แต่ยังเป็นโอกาสอันล้ำค่าที่มนุษย์จะได้ทำความเข้าใจถึงการก่อกำเนิดของระบบดาวเคราะห์อื่น ๆ และความลึกลับของเอกภพที่กว้างใหญ่ไพศาลมากยิ่งขึ้น 


คุณอยากรู้อะไรกับการมาเยือนของ 3I/ATLAS ในครั้งนี้ ???
 

อ้างอิง

https://www.sciencenews.org/article/third-interstellar-visitor-solar-system   (07/07/2025)

https://www.bbc.co.uk/newsround/articles/ce37566y5wzo   (07/07/2025)

Created by
เรียบเรียงโดย ชนินทร์ สุริยกุล ณ อยุธยา กองสื่อสารวิทยาศาสตร์ ​องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ