การเติบโตขึ้นอยู่กับประสบการณ์ ไม่ใช่ขนาดตัว มีจริงหรือ???
กบพาราด็อกซิคัล (paradoxical frog) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Pseudis paradoxa เป็นกบสัญชาติอเมริกาใต้ชอบอาศัยอยู่ตามแม่น้ำ ทะเลสาบ และหนองน้ำ ชื่อของมันมาจากคำว่า “paradox” ที่มีความหมายว่า “ย้อนแย้ง” โดยทั่วไปแล้ว ไม่ว่าจะสิ่งมีชีวิตอะไรก็ตามตอนเด็กต้องตัวเล็กกว่าตอนโตเสมอ แต่ความย้อนแย้งกลับกลายเป็นคุณลักษณะที่โดดเด่นทำให้มันแตกต่างจากเพื่อน โดยช่วงวัยเด็กในตอนที่เป็นลูกอ๊อด (tadpole) มีลำตัวยาวมากถึง 10-11 นิ้ว จนได้ฉายา “ลูกอ๊อดที่ใหญ่ที่สุดในโลก” แต่พอเกิดกระบวนการเปลี่ยนแปลงรูปร่าง หรือ “Metamorphosis” จนกลายเป็นกบตัวเต็มวัย ขนาดตัวของมันกลับลดลงเหลือเพียง 3 นิ้ว เท่านั้น! ซึ่งตรงข้ามกับธรรมชาติของการเจริญเติบโตของสิ่งมีชีวิตอย่างน่าประหลาดใจ
แล้วทำไมจากลูกอ๊อดตัวใหญ่ถึงหดตัวจนมีขนาดเล็กลงเมื่อกลายเป็นกบล่ะ? ทั้งนี้เนื่องจากว่าในช่วงที่มันเป็นลูกอ๊อดมันจะกินพืช เช่น สาหร่าย เป็นอาหาร และในช่วงนี้เองมันจะมีการกักเก็บอาหารจำนวนมากไว้ใช้ในกระบวนการเปลี่ยนแปลงรูปร่างจากลูกอ๊อดไปเป็นกบตัวเต็มวัย ซึ่งกระบวนการดังกล่าวจะทำให้มีการเปลี่ยนแปลงด้านสรีรวิทยา โดยจะมีการใช้ปอดหายใจแทนเหงือก พร้อมกับรับออกซิเจนผ่านทางผิวหนังร่วมด้วย และการเปลี่ยนแปลงในด้านร่างกาย โดยเหงือกจะค่อยๆลดรูปหายไป หางหดสั้นลง ขาเริ่มงอก จนกระทั่งมีลักษณะเหมือนกบตัวเต็มวัย กระบวนการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้พบได้ทั่วไปในกบ แต่สิ่งที่แตกต่างไปในเจ้า paradoxical frog ทำให้มันน่าสนใจ คือมันใช้เวลาไปกับกระบวนการดังกล่าว นานถึง 6 เดือน ซึ่งนานกว่าลูกอ๊อดในสายพันธุ์อื่นๆ 3-4 เท่า และเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงรูปร่างนั้นต้องใช้พลังงานอย่างมาก ทำให้ร่างกายของมันตอนเป็นลูกอ๊อดอัดแน่นไปด้วยสาหร่ายหรือพืชที่กินเข้าไป เพื่อกักเก็บสารอาหารไว้ที่ตัวอันใหญ่โตจนกลายเป็น "ลูกอ๊อดยักษ์" จากนั้นอาหารที่ถูกเก็บไว้ส่วนใหญ่จะถูกใช้หมดเมื่อลูกอ๊อดแปลงร่างเป็นกบโตเต็มวัย ส่งผลให้ขนาดของมันลดลงอย่างมาก
แม้ว่ามันจะมีขนาดเล็กลง แต่ความสามารถสมองของมันไม่ได้เล็กลงตามตัว กลับมีพัฒนาการที่ดีขึ้น เห็นได้ชัดคือ วิถีการกินอาหารช่วงที่เป็นลูกอ๊อดจากกินพืชเป็นอาหาร แต่พอโตเป็นกบตัวเต็มวัยมีความสามารถในการจับกินแมลงและสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ทั้งที่ขนาดตัวของมันเล็กลงถึง 3 เท่าตัวจากตอนเด็ก นอกจากเรื่องขนาดตัวที่เล็กลงของมันจะน่าสนใจแล้ว เคยมีรายงานว่า ผิวหนังของเจ้าลูกอ๊อดยักษ์มีโปรตีน pseudin-2 ซึ่งเป็นโปรตีนที่สามารถกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนอินซูลินจากเซลล์ตับอ่อน โดยในทางการแพทย์สามารถใช้เป็นยารักษาโรคเบาหวานชนิดที่สอง (Type 2 diabetes) ซึ่งมีสาเหตุมาจากการดื้อฮอร์โมนอินซูลินได้อีกด้วย
ดังนั้นชีวิตของเจ้า paradoxical frog จึงเป็นตัวอย่างของคำกล่าวว่า “การเติบโตขึ้นอยู่กับประสบการณ์ ไม่ใช่ขนาดตัว” We age, not by years, but by stories
อ้างอิงเนื้อหา
- Emerson S. B. The giant tadpole of Pseudis paradoxa. 1988. Biological Journal of the Linnean Society. 34 (2): 93–104.
- Downie J.R., Ramnarine I., Sams K., and Walsh P.T. 2009. The paradoxical frog Pseudis paradoxa: larval habitat, growth and metamorphosis. Herpetological Journal 19: 11–19.
- Stan C. Smith. Awesome Animal Fact - Shrinking Frog [Online]. 2022. http://www.stancsmith.com/blog/awesome-animal-shrinking-frog (18 December 2023)
- Olson L., Soto A.M., Knoop F.C., and Conlon J.M. 2001. Pseudin-2: an antimicrobial peptide with low hemolytic activity from the skin of the paradoxical frog. Biochemical and Biophysical Research Communications (BBRC) 8:4.