งานวิจัยเผยมลพิษในอากาศกลางคืนลดกลิ่นหอมของดอกไม้ พาให้แมลงเข้าหาน้อยลง นักวิทย์หวั่นปัญหานี้ไม่หยุดเพียงแค่ดอกไม้ แนะการใช้พลังงานทางเลือกอาจช่วยแก้ไขสถานการณ์ได้
Dr.Joel Thornton นักเคมีจากมหาวิทยาลัยวอชิงตัน และคณะ ร่วมกันเผยแพร่งานวิจัยใหม่ในวารสาร Science ศึกษาผลกระทบระหว่างอนุมูลไนเตรต (NO3) ที่อยู่ในบรรยากาศเมืองตอนกลางคืน ต่อกลิ่นหอมของดอกไม้และความสนใจของแมลง โดยอนุมูลไนเตรตมีสารตั้งต้นจากไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) จากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลที่อุณหภูมิสูง เช่น การสันดาปของเครื่องยนต์ และโรงไฟฟ้าถ่านหิน เป็นต้น
นักวิจัยจำลองกลิ่นของดอกอีฟนิ่งพริมโรส (The pale evening primrose) ที่บานตอนกลางคืน ผ่านอุโมงค์ลม พบว่าสามารถดึงดูดผีเสื้อกลางคืนที่สามารถรับกลิ่นระยะไกล มาตอมเพื่อผสมเกสรและขยายพันธุ์ได้ดี แต่เมื่อกระตุ้นด้วยอนุมูลไนเตรต ให้เข้าไปมีปฏิกิริยาเคมีกับโครงสร้างกลิ่นหลักของดอกไม้ พบว่าทำให้กลิ่นดอกไม้เปลี่ยนไป อัตราการจับกลิ่นของผีเสื้อกลางคืนลดลง 50% และเมื่อทดลองในภาคสนามจริง ๆ พบว่า อัตราการจับกลิ่นลดลงมากถึง 70% เปรียบเหมือนดอกไม้นั้นมี “รสขม”
นอกจากนี้นักวิจัยยังสร้างแบบจำลองระยะการกระจายกลิ่นของดอกไม้ที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษทั่วโลกด้วย พบว่า มลพิษที่เกิดขึ้นก็ไปลดระยะทางการส่งกลิ่นของดอกไม้ให้สั้นลงด้วย นั่นแสดงว่ามลพิษทางอากาศกระทบไปถึงธรรมชาติรอบตัวเราเช่นกัน เมื่อแมลงไม่เข้าหาดอกไม้ เพราะไม่ได้กลิ่น การผสมเกสรที่ควรจะเป็นก็น้อยลงตามไปด้วย การกระจายพันธุ์ก็เกิดขึ้นยาก ในอนาคตนักวิจัยกังวลว่าปัญหานี้จะส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อกันไปเรื่อย ๆ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจากการใช้พลังงานฟอสซิลมาเป็นพลังงานทางเลือกที่ลดการเผาไหม้ อาจเป็นตัวช่วยหนึ่งที่ทำให้ระบบนิเวศบนโลกเรายั่งยืนมากขึ้น
ที่มาของแหล่งข้อมูล
-
J. K. Chan et al., Olfaction in the Anthropocene: NO3 negatively affects floral scent and nocturnal pollination. Science 383 ,607-611(2024).DOI:10.1126/science.adi0858