นาซาส่ง “ยูโรปา คลิปเปอร์” ลงดวงจันทร์ “ยูโรปา” หวังพบสิ่งมีชีวิต
Publish date
27/03/2024
Image

นาซากำหนดส่ง ยานอวกาศยูโรปา คลิปเปอร์ โคจรรอบดวงจันทร์ “ยูโรปา” ของดาวพฤหัสบดี ตุลาคม 2024 นี้ พร้อมติดตั้งเครื่องมือตรวจสอบสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กนอกโลก

องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือ นาซา กำหนดส่งยานอวกาศยูโรปา คลิปเปอร์ (Europa Clipper) ไปโคจรรอบดวงจันทร์ยูโรปาของดาวพฤหัสบดี ที่เป็นดวงจันทร์น้ำแข็ง (icy moon) และเชื่อว่าภายใต้เปลือกน้ำแข็งนั้นเป็นมหาสมุทร ที่อาจมีสิ่งทีชีวิตเซลล์เดียวขนาดเล็ก จุลินทรีย์ หรือพวกแบคทีเรียอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมนั้น เนื่องจากมีภาพถ่ายจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล ปี 2012 ว่า ยูโรปามีของไหลที่เชื่อว่าเป็นไอน้ำพุ่งขึ้นมาจากพื้นผิวสูงถึง 200 กิโลเมตร จึงมีแนวคิดว่าโลกไม่ใช่ดาวดวงเดียวที่มีน้ำที่เอื้อต่อการมีอยู่ของสิ่งมีชีวิต จึงเกิดภารกิจสำรวจดวงจันทร์ยูโรปาขึ้น ซึ่งนาซามีกำหนดส่งยานในวันที่ 10 ตุลาคม 2024 คาดว่ายานจะเดินทางถึงดวงจันทร์ยูโรปาในปี 2030 โดยยานจะโคจรเหนือพื้นผิวดวงจันทร์ไม่เกิน 25 กิโลเมตร

 

ยานอวกาศยูโรปา คลิปเปอร์ (Europa Clipper)
ยานอวกาศยูโรปา คลิปเปอร์ (Europa Clipper)
S
ดวงจันทร์ยูโรปา
 

การตรวจจับสิ่งมีชีวิต ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Washington University ประเทศสหรัฐอเมริกา และมหาวิทยาลัย Freie Universität Berlin ประเทศเยอรมันนี ร่วมกันทดลองเครื่องมือที่ติดตั้งอยู่บนยาน ว่าสามารถตรวจจับสิ่งมีชิวิตขนาดเล็กที่อาจถูกห่อหุ้มอยู่ในเม็ดน้ำแข็งภายใต้พื้นผิวดวงจันทร์ที่เป็นน้ำแข็งได้หรือไม่ นักวิจัยจำลองสถานการณ์ที่คล้ายกับน้ำพุที่พุ่งขึ้นมาจากผิวดวงจันทร์ในสุญญากาศ โดยใส่แบคทีเรีย Sphingopyxis alaskensis ที่พบในอากาศหนาวเย็น เช่น น่านน้ำนอกชายฝั่งอลาสก้า และมีชั้นเยื่อไขมันห่อหุ้มสามารถเกาะบนชั้นผิวน้ำหรือน้ำแข็งได้ เข้าไปในน้ำพุจำลอง และใช้แมสสเปกโตรมิเตอร์ตรวจสอบ พบว่าสามารถตรวจจับสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กเซลล์เดียวนี้ได้ ทำให้นักวิจัยเชื่อว่า หากบนดวงจันทร์ยูโรปามีสิ่งมีชีวิตจริง ๆ เครื่องมือที่ติดตั้งไปกับยานนี้จะตรวจพบแน่นอน โดยงานวิจัยนี้ถูกเผยแพร่ในวารสาร Science Advances เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2024

S

ที่มาของแหล่งข้อมูล

https://www.science.org/doi/epdf/10.1126/sciadv.adl0849

https://www.nasa.gov/missions/nasa-scientists-confirm-water-vapor-on-europa/

https://www.jpl.nasa.gov/missions/europa-clipper

ผู้เรียบเรียง : ณฐพรรณ พวงยะ  นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ ศูนย์พัฒนาความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์แห่งชาติ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ