ทีมนักวิจัย ประเทศออสเตรเลีย คิดค้นเครื่องอัลตราโซนิค (ultrasonic) เชื่อมต่อกับเครื่องชงกาแฟ เพื่อทำกาแฟสกัดเย็น (Clod Brew) โดยใช้เวลาเพียง 3 นาที จากปกติใช้เวลานานถึง 12-24 ชั่วโมง
วันที่ 7 พ.ค. 67 เว็บไซต์ Arstechnica รายงานว่า ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย นิวเซาธ์เวลส์ (The University of New South Wales) และมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ (The University of Queensland) ประเทศออสเตรเลีย ได้คิดนวัตกรรมใหม่ในการชงกาแฟสกัดเย็น ด้วยเครื่องสร้างคลื่นเสียงความถี่สูง เกินกว่าที่ประสาทหูมนุษย์จะได้ยิน หรืออัลตราโซนิค (ultrasonic) เพื่อลดระยะเวลาในการทำกาแฟสกัดเย็นให้เหลือเพียง 3 นาที จากปกติใช้เวลานานถึง 12-24 ชั่วโมง โดยนักวิจัยเชื่อมต่อทรานสดิวเซอร์ (transducer) ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ทำหน้าที่รับและแปลงพลังงานเข้ากับตะกร้ากรองกาแฟ เพื่อเปลี่ยนตะกร้ากรองกาแฟธรรมดาให้เป็นเครื่องปฏิกรณ์อัลตราโซนิค (ultrasonic reactor) โดยจะส่งคลื่นเสียงที่มีความถี่ 38.8 กิโลเฮิร์ตซ์ (kHz) ไปยังตะกร้ากรองกาแฟ ที่นอกจากจะทำให้ขนาดของผงกาแฟลดลงแล้ว ยังทำให้เกิดปฏิกิริยาอิมัลซิฟิเคชัน (Emulsification) หรือการทำให้ไขมันในผงกาแฟแตกตัว เพิ่มพื้นที่ผิวสัมผัสระหว่างโมเลกุลน้ำและกาแฟ ซึ่งเมื่อทดสอบคุณภาพทางประสาทสัมผัส (sensory qualities) ทั้งหมด 18 มิติ พบว่าการสกัดเย็นจากเครื่องปฏิกรณ์อัลตราโซนิค ทำให้กาแฟมีรสชาติและกลิ่นที่ใกล้เคียงกับการสกัดเย็นโดยวิธีแบบดั้งเดิมเป็นอย่างมาก
กาแฟสกัดเย็น (Cold Brew) เป็นวิธีการแช่กาแฟในน้ำ ทิ้งไว้ในตู้เย็นเป็นเวลา 12-24 ชั่วโมง ทำให้กาแฟสกัดเย็นมีความหวานมากกว่ากาแฟที่ชงด้วยน้ำร้อน เนื่องจากน้ำเย็นจะไม่สกัดกรด (acid) ออกมาจากกาแฟ ซึ่งเป็นวิธีที่ช่วยเพิ่มมูลค่าของกาแฟ โดยเครื่องปฏิกรณ์ดังกล่าว ถือเป็นนวัตกรรมใหม่ที่จะใช้พัฒนาอุตสาหกรรมกาแฟต่อไปในอนาคต โดยผลงานวิจัยนี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Ultrasonics Sonochemistry
อ้างอิงเนื้อหาและรูปภาพ :
- https://arstechnica.com/science/2024/05/how-you-can-make-cold-brew-coffee-in-under-3-minutes-using-ultrasound/
- Chiu, S.H., Naliyadhara, N., and Bucknall, M.P. (2024). Coffee brewing sonoreactor for reducing the time of cold brew from several hours to minutes while maintaining sensory attributes. Ultrasonics Sonochemistry. https://doi.org/10.1016/j.ultsonch.2024.106885
ผู้เรียบเรียง
ศรสวรรค์ เลี่ยมทอง
นักวิชาการ
ศูนย์พัฒนาความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์แห่งชาติ
องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ