ทีมนักวิจัยวิเคราะห์ดาวเคราะห์แก๊สนอกระบบ WASP-193b พบขนาดใหญ่กว่าดาวพฤหัสบดีแต่มีความหนาแน่นต่ำพอ ๆ กับขนมสายไหม
หลังจากการประกาศพบดาวเคราะห์นอกระบบ WASP-193b ในปี 2023 ซึ่งอยู่ห่างจากโลกประมาณ 1,181 ปีแสง ทีมนักวิจัยได้ศึกษาสมบัติทางกายภาพของดวงดาว ได้แก่มวลและองค์ประกอบ พบว่าเป็นดาวเคราะห์แก๊สที่มีมวลน้อยกว่าดาวพฤหัสบดี 0.139 เท่า แต่มีขนาดที่ใหญ่กว่าถึง 1.464 เท่า จึงทำให้ดาวเคราะห์ดวงนี้มีความหนาแน่นที่ต่ำมาก เพียง 0.059 กรัมต่อลูกบาศก์เซนติเมตร จนเมื่อเทียบความหนาแน่นนี้กับสิ่งของใกล้ตัวเรา พบว่าใกล้เคียงกับความหนาแน่นของสายไหมหรือสำลีที่มีความหนาแน่น 0.05 กรัมต่อลูกบาศก์เซนติเมตร ในขณะที่โลกเราเป็นดาวเคราะห์หิน มีความหนาแน่น 5.50 กรัมต่อลูกบาศก์เซนติเมตร
องค์ประกอบส่วนใหญ่ของดาวเคราะห์ WASP-193b เป็นแก๊สไฮโดรเจนและฮีเลียม เช่นเดียวกับดาวพฤหัสบดี ทีมนักวิจัยจึงตั้งสมมุติฐานว่า แก๊สเหล่านี้ทำให้ชั้นบรรยากาศนั้นพองตัวขึ้น ทำให้ขนาดของดาวดวงนี้ใหญ่กว่าดาวพฤหัสบดี จึงได้ฉายาว่า “puffy Jupiters” หรือดาวพฤหัสบดีที่พองตัว แต่อย่างไรก็ดี นักวิจัยยังคงประหลาดใจกับความเบาบางของดาวเคราะห์แก๊สดวงนี้ และจำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติมเพื่อหาผลมาสนับสนุนสมมุติฐานอีกครั้ง โดยอาศัยข้อมูลจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์ ที่มีความสามารถสำรวจอวกาศห้วงลึก ซึ่งงานวิจัยดังกล่าวได้รับการเผยแพร่ในวารสารวิชาการ Nature Astronomy เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2024
ข้อมูลเพิ่มเติม : ดาวเคราะห์นอกระบบ (Exoplanet) หมายถึง ดาวเคราะห์ที่อยู่นอกระบบสุริยะ และโคจรอยู่รอบดาวฤกษ์อื่น ที่ไม่ใช่ดวงอาทิตย์
ที่มาของแหล่งข้อมูลและภาพ :
1. https://science.nasa.gov/exoplanet-catalog/wasp-193-b/
2. https://edition.cnn.com/2024/05/16/world/cotton-candy-exoplanet-discovery-wasp-193b-scn/index.html
ผู้เรียบเรียง
ณฐพรรณ พวงยะ
นักสื่อสารวิทยาศาสตร์
ศูนย์พัฒนาความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์แห่งชาติ
องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ