วันที่ 27 พฤษภาคมที่ผ่านมา เว็บไซต์ The Guardian รายงานผลการวิจัยร่วมกันของ University of Leicester ประเทศอังกฤษและ University of Cape Town ประเทศแอฟริกาใต้ ที่พบว่าพลาสติกที่มีสีสันสดใสอย่างสีแดง เขียว น้ำเงิน มีอัตราการย่อยสลายเร็วกว่าพลาสติกสีพื้น ๆ อย่างสีดำ ขาว และสีเงิน โดยทั้งสองมหาวิทยาลัยต่างก็แยกทดลองในประเทศของตน คือ ทีมวิจัยประเทศอังกฤษนำฝาขวดน้ำหลากหลายสี ไปวางบนหลังคาอาคารให้ได้รับแสงแดดและอื่น ๆ ตามสภาพแวดล้อมเป็นเวลา 3 ปี ส่วนทีมวิจัยประเทศแอฟริกาใต้ ศึกษาชิ้นส่วนพลาสติกสีสันหลากหลายเช่นกัน บนชายหาดที่ไร้การรบกวน โดยเลือกพลาสติกที่มีการระบุวันผลิตตรงกัน แล้วใช้เทคนิคทางห้องปฏิบัติการวัดอัตราการย่อยสลาย ผลปรากฏว่า ทั้งสองสภาวะต่างให้ผลตรงกันคือ ตัวอย่างชิ้นพลาสติกที่มีสีสดใส โดยเฉพาะ สีแดง สีเขียว สีน้ำเงิน มีอัตราการย่อยสลายเร็วกว่า พลาสติกสีพื้น ๆ อย่างพลาสติกสีดำ สีขาว สีเงิน ขณะที่พลาสติกสีพื้นเหล่านี้แทบจะไม่เป็นอะไรเลยในการทดลองดังกล่าว
นักวิจัยให้ข้อคิดเห็นว่า สีที่ใช้ผสมในกระบวนการผลิตพลาสติกน่าจะมีผลต่อการย่อยสลายพลาสติก โดยสีสดใสจะทำให้เกิดการย่อยสลายเร็ว ขณะที่ สีดำ สีขาว สีเงิน จะช่วยปกป้องพลาสติกจากการทำลายของรังสียูวี ซึ่งรังสียูวีนี่เองที่เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้พลาสติกผุ แตกหักเร็วขึ้น แล้วเกิดไมโครพลาสติกตามมา เหล่านี้ทำให้พลาสติกเหล่านี้ไม่อาจเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้ สร้างปัญหามลภาวะให้แก่โลกและสิ่งแวดล้อม
การทดลองนี้จะทำให้เกิดความตระหนักในการผลิตพลาสติก โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ตั้งในที่โล่งแจ้ง ซึ่งมักจะได้รับการออกแบบให้มีสีสันสดใส บริษัทผู้ผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์พลาสติกอาจต้องทบทวนเรื่องการใส่สีสันสำหรับงานเหล่านี้
แหล่งที่มาของข่าว
https://le.ac.uk/news/2024/may/microplastic-colours
https://www.sciencedirect.com/science/article/pii/S0269749124004159?via%3Dihub