พบฟอสซิลโครงกระดูกไดโนเสาร์นักล่า แห่งอาร์เจนตินา
Science News Categories
Publish date
13/06/2024
Image
1

ทีมนักวิจัยด้านบรรพชีวิน พบฟอสซิลไดโนเสาร์กินเนื้อชนิดใหม่ จากพื้นที่อาร์เจนตินา รูปร่างคล้ายทีเร็กซ์ แต่แขนสั้นกว่า ตั้งชื่อตามผู้นำเผ่าคนสุดท้าย

งานวิจัยจากวารสารวิชาการ Cladistics นำโดยทีมนักวิจัยจากอาร์เจนตินา จีน และสหรัฐอเมริกา รายงานถึงการพบฟอสซิลไดโนเสาร์นักล่าชนิดใหม่ จากการที่สังเกตเห็นกระดูกนิ้วเท้าข้างเดียวยื่นออกมาจากชั้นหินในหมวดหิน La Colonia บริเวณตอนกลางของพื้นที่ Patagonia เมือง Chubut ประเทศอาร์เจนตินา ในการขุดค้นพวกเขาพบฟอสซิลกะโหลก กระดูกสันหลัง สะโพก กระดูกเชิงกราน รวมทั้งแขนและขา ซึ่งตรวจสอบพบว่าเป็นไดโนเสาร์เทอโรพอดชนิดใหม่ในวงศ์อะเบลิซอริเด (Abelisauridae) ที่ใช้ชีวิตอยู่บริเวณทวีปกอนด์วานา (Gondwana) ซึ่งเป็นทวีปโบราณตอนใต้ในช่วงยุคครีเทเชียสตอนปลาย ได้รับการตั้งชื่อว่า Koleken inakayali ซึ่ง inakayali เป็นชื่อของผู้นำเผ่า Tehuelche คนสุดท้าย ที่อาศัยอยู่ในตอนกลางของ Patagonia ในช่วงศตวรรษที่ 19

1
ฟอสซิลกระดูก Koleken inakayali ที่ขุดค้นพบ (เครดิตภาพ Amalia Villafañe. CONICET)

 

1
แผนภาพแสดงบริเวณที่พบฟอสซิล Koleken inakayali (จุดดาวสีดำ) ในหมวดหิน La Colonia (พื้นที่สีเขียว) เมือง Chubut ประเทศอาร์เจนตินา

 

ทีมงานวิจัยยังได้ชี้ให้เห็นลักษณะสำคัญที่น่าสนใจ พวกเขาพบว่ามันมีรูปร่างคล้ายกับทีเร็กซ์ (ไทแรนโนซอรัส เรกซ์) ไดโนเสาร์ยอดนักล่าในภูมิภาคตะวันตกเฉียงเหนือของทวีปอเมริกา แต่ชนิดใหม่ที่พบนี้มีขาหลังที่ใหญ่ จมูกสั้น ส่วนแขนจะเล็กและสั้นกว่ามาก นอกจากนั้นยังไม่มีกระดูกเขา ทำให้แยกจากไดโนเสาร์สกุล Carnotaurus ซึ่งเป็นไดโนเสาร์เทอโรพอดที่มีลักษณะคล้ายกัน ในวงศ์เดียวกัน ยุคเดียวกัน ที่มีเขาบนหน้าผากด้านข้าง (lateral frontal horns) ที่พบฟอสซิลอยู่ในหมวดหินเดียวกันกับ Koleken inakayali ได้ชัดเจน

คุณ Diego Pol หนึ่งในทีมนักวิจัยกล่าวถึงการค้นพบนี้ว่า มันจะช่วยสร้างความกระจ่างให้กับความหลากหลายของไดโนเสาร์วงศ์ Abelisauridae มากขึ้น ช่วยในการศึกษาวิวัฒนาการของพวกมันในช่วงเวลาดังกล่าว โดยงานวิจัยนี้ได้รับทุนสนับสนุนจาก National Geographic Society และ School of Life Sciences of The Chinese University of Hong Kong

 

1
ภาพจำลอง Koleken inakayali

 

แหล่งที่มาของข่าว

https://onlinelibrary.wiley.com/doi/10.1111/cla.12583

 

 

Created by
ณฐพรรณ พวงยะ นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ