
ทีมนักวิจัยองค์กรอวกาศของยุโรปได้แรงบันดาลใจจากชุดต่อเลโก้พัฒนา “อิฐอวกาศ” หวังใช้ในงานโครงสร้างต่าง ๆ บนดวงจันทร์ ภายใต้โครงการ Artemis
วันที่ 24 มิถุนายนที่ผ่านมา เว็บไซต์ tnnthailand รายงานการคิดค้นและพัฒนา “อิฐอวกาศ” โดยทีมวิจัยองค์กรอวกาศของยุโรปหรือ ESA ที่เผยให้เห็นรูปร่างหน้าตาของอิฐนี้ที่มีความคล้ายคลึงกับบล็อก เลโก้ บ่งบอกถึงแรงบันดาลใจจากชุดต่อเลโก้นั่นเอง โดย ESA ต้องคิดค้นหาแนวทางออกแบบงานโครงสร้างต่าง ๆ บนดวงจันทร์ อาทิ ที่พักอาศัย แท่นปล่อยจรวด และโครงสร้างอื่น ๆ บนดวงจันทร์ แล้วเกิดข้อสงสัยว่าจะผลิตอิฐก่อสร้างจากฝุ่นอวกาศได้หรือไม่
กระบวนการคิดค้นอิฐอวกาศนี้ นักวิจัยเลือกใช้ชั้นผิวดินดวงจันทร์ซึ่งถือเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมที่สุด ชั้นดินประกอบไปด้วยเศษหินและผงฝุ่น แต่เนื่องจากบนโลกมีตัวอย่างดินดวงจันทร์อันจำกัด นักวิจัยจึงเลือกสิ่งที่ใกล้เคียงคือ อุกกาบาตอายุ 4,500 ล้านปีที่มีอยู่แล้ว มาบดเป็นชิ้นเล็ก ๆ ผสมกับพอลิแลกไทด์ที่เป็นสารพอลิเมอร์ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ จากนั้นใส่เครื่องพิมพ์ 3 มิติ ฉีดส่วนผสมนี้ออกมาเป็นรูปบล็อกเลโก้


แม้อิฐอวกาศนี้จะมีเนื้อหยาบแต่นักวิจัยก็ยืนยันว่าสามารถยึดติดกันได้อย่างดี และนำออกจัดแสดงที่ร้านเลโก้ในหลายประเทศเมื่อวันที่ 24 มิถุนายนที่ผ่านมา อิฐอวกาศนี้ เป็นหนึ่งในตัวอย่างให้นักวิจัยด้านอวกาศ ต้องคำนึงว่าจะพวกเขาจะออกแบบโครงสร้างบนอวกาศอย่างไรและใช้อะไรในอวกาศเป็นวัตถุดิบกรณีที่ไม่สามารถนำวัตถุดิบขึ้นไปใช้บนอวกาศได้
การคิดค้นด้านสิ่งก่อสร้างบนอวกาศนี้ อยู่ภายใต้โครงการ Artemis ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง ESA และNASA ในการนำมนุษย์ไปเยือนดวงจันทร์อีกครั้งหลังจากการเยือนครั้งแรกในโครงการอะพอลโลเมื่อกว่า 50 ปีที่แล้ว ซึ่งทีมวิจัยยังต้องคิดค้น พัฒนา ทดลอง ทดสอบ หาเทคนิคอื่น ๆ ต่อไปเพื่องานก่อสิ่งปลูกสร้างบนดวงจันทร์ในอนาคต

แหล่งที่มาของข่าว