
นักวิจัยพบฟอสซิลชิ้นสำคัญที่เติมเต็มความรู้ด้านวิวัฒนาการของสัตว์เลื้อยคลานบินได้ หรือ Pterosaur ล่าสุดได้รับการตั้งชื่อเป็นสายพันธุ์ใหม่อย่างเป็นทางการว่า Propterodactylus frankerlae
วารสาร Palaeontologia Electronica ตีพิมพ์ผลงานการค้นพบซากดึกดำบรรพ์สัตว์เลื้อยคลานบินได้ (Pterosaur) จากประเทศเยอรมัน ซึ่งมีสภาพสมบูรณ์และไขปริศนาความเชื่อมโยงระหว่างสัตว์เลื้อยคลานบินได้ 2 กลุ่ม ระหว่างกลุ่ม non-pterodactyloid และกลุ่ม pterodactyloid ที่ช่วยทำให้เห็นวิวัฒนาการทางสัณฐานวิทยาของสัตว์เลื้อยคลานบินได้ โดยฟอสซิลชนิดนี้ได้รับชื่อว่า Propterodactylus frankerlae มีลักษณะเด่นร่วมของทั้ง 2 กลุ่มข้างต้น คือ
- ปลายกระดูกสันหลังเชื่อมต่อกันได้และนิ้วเท้าที่ห้าทำหน้าที่ได้จริง ซึ่งเป็นลักษณะของกลุ่ม non-pterodactyloid
- มีรูเปิดที่กระบอกตา และหางสั้น ซึ่งเป็นลักษณะของกลุ่ม pterodactyloid
การค้นพบครั้งนี้เปรียบเสมือนการเจอจิ๊กชอว์ชิ้นสำคัญที่เติมเต็มภาพวิวัฒนาการของสัตว์เลื้อยคลานบินได้ แต่ถึงแม้ว่าลักษณะสัณฐานของกระดูกจะมีลักษณะร่วมกันแต่ลักษณะของฟันกลับมีลักษณะปะปน ไม่ชัดเจน ซึ่งบ่งบอกว่าอาหารที่สัตว์เลื้อยคลานบินได้กลุ่มนี้กินอาจมีความหลากหลาย และมีผลต่อการวิวัฒนาการของฟัน
ผลการศึกษานี้กระตุ้นให้นักบรรพชีวินวิทยากลับมาให้ความสนใจกับฟอสซิลสัตว์เลื้อยคลานบินได้ที่ค้นพบก่อนหน้านี้ เพื่อศึกษาและวิเคราะห์รายละเอียดเพิ่มเติม ค้นหาคำตอบที่รอการไขปริศนาเกี่ยวกับวิวัฒนาการของสัตว์เลื้อยคลานบินได้อย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น

A ถ่ายโดยใช้แสงธรรมชาติ
B ถ่ายโดยใช้แสง UV
อ้างอิง
1. Spindler, Frederik. 2024. A pterosaurian connecting link from the Late Jurassic of Germany. Palaeontologia Electronica, 27(2):a35. https://doi.org/10.26879/1366
2. palaeo-electronica.org/content/2024/5213-pterosaurian-connecting-link