ตรวจสอบแล้ว รอยตีนไดโนเสาร์ภูหินร่องกล้า “เป็นของจริง” อายุกว่า 120 ล้านปี
Science News Categories
Publish date
07/08/2024
Image
1

จากที่นักท่องเที่ยวแจ้งพบแนวรอยตีนปริศนา 3 นิ้ว คาดว่าเป็นรอยตีนไดโนเสาร์ ผู้เชี่ยวชาญจากกรมทรัพยากรธรณี ลงพื้นที่ตรวจสอบพบว่าเป็นรอยตีนไดโนเสาร์จริง มีอายุ 120 ล้านปี ด้านโลกโซเชียลกระหน่ำคอมเม้นหลายทิศทาง

 

เฟสบุ๊กกรมทรัพยากรธรณีเผยถึงการเข้าตรวจสอบรอยตีนปริศนา บริเวณลานจอดเฮลิคอปเตอร์ใกล้กับลานกางเต็นท์ ณ อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก แจ้งพบโดยครอบครัวนักท่องเที่ยวครอบครัวหนึ่ง ที่เข้ามาเที่ยวอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้าเป็นประจำ ซึ่งนักท่องเที่ยวแจ้งว่าพบมาตั้งแต่ปี 2563 จนแน่ใจว่าอาจจะเป็นรอยตีนไดโนเสาร์ จึงแจ้งทางการเข้ามาช่วยตรวจสอบ

 

ผลการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่าเป็นรอยตีนของไดโนเสาร์จริง เป็นรอยตีนของไดโนเสาร์กลุ่มเทอโรพอด ซึ่งเป็นไดโนเสาร์กินเนื้อ เดินสองขา ลักษณะปรากฏ 3 นิ้ว เป็นแนวทางเดิน 2 แนว กระจัดกระจายในพื้นที่กว่า 2,500 ตารางเมตร รอยตีนดังกล่าว ประทับอยู่บนหินทรายและหินโคลน หมวดหินภูพาน อยู่ในยุคครีเทเชียสตอนต้น อายุประมาณ 120 ล้านปี ซึ่งยุคครีเทเชียสเป็นยุคสุดท้ายของไดโนเสาร์ สำหรับการพบรอยตีนดังกล่าวในพื้นที่แห่งนี้จะสามารถพัฒนาขึ้นเป็นแหล่งเรียนรู้ทางธรณีวิทยาและซากดึกดำบรรพ์ของอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้าได้ในอนาคต

 

11

 

ด้านโลกโซเชียลมีเดียมีการแสดงความคิดเห็นกับเรื่องนี้ออกมาหลายด้านต่างกัน ทั้งเสนอแนวคิดในมุมมองตื่นเต้นและแสดงความยินดีกับการพบที่สามารถยืนยันได้ว่าเป็นรอยตีนสัตว์ดึกดำบรรพ์จริง และความคิดเห็นในด้านตรงข้ามที่ยังไม่เชื่อในข่าวดังกล่าว ว่า “หินแข็งขนาดนี้ เหยียบลึกได้อย่างไร” , “120 ล้านปี ใครเกิดทันถึงรู้ครับ” “ไม่เชื่อ” ฯลฯ เป็นต้น

 

ในเรื่องนี้สามารถอธิบายการเกิดได้จากกระบวนการทางธรณีวิทยา การที่รอยตีนสัตว์ดึกดำบรรพ์จะประทับลึกลงบนแผ่นหินได้ ต้องย้อนกลับไปถึงสภาพแวดล้อมและการเกิดหินตะกอนในยุค 120 ล้านปีที่แล้ว ที่บริเวณนั้นเคยเป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำ เมื่อสัตว์เดินย่ำก็จะทิ้งรอยตีนไว้บนตะกอนที่นุ่ม และไม่มีการรบกวนรอยตีนนั้นอีกเลย เมื่อเวลาผ่านไปน้ำบริเวณนั้นแห้งลง เม็ดตะกอนเกิดการแพคตัว (Compaction) และเชื่อมประสาน (Cementation) พื้นดินจึงแข็งตัว กลายเป็นหินตะกอน และผ่านวันผ่านเวลา มีตะกอนชุดใหม่สะสมตัวแบบเดิม ปิดทับหลุมรอยตีนเดิมที่แข็งแล้ว ทำให้เกิดการรักษารอยตีนนั้นไว้ใต้ชั้นหินได้เป็นเวลานานหลายร้อยปี จนเวลาผ่านมาถึงยุคปัจจุบันชั้นหินตะกอนถูกยกตัวขึ้นมาพร้อมกับการกัดเซาะและกัดกร่อนของน้ำ ลม และอากาศ จึงเผยรอยตีนดังกล่าวให้ได้เห็น

 

1

 

 

อ้างอิง

https://www.pptvhd36.com/news/%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%A1/229766

https://www.thairath.co.th/news/society/2805120

https://www.facebook.com/DMRTH/posts/803232951997879?ref=embed_post

https://open.maricopa.edu/hazards/chapter/3-4-sedimentary-rocks/

 

Created by
เรียบเรียงโดย ณฐพรรณ พวงยะ นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ