
นักวิจัยผุดไอเดีย ใช้วงแหวนกระจกเพิ่มอัตราการรอดกล้าไม้หายาก
วันที่ 19 กันยายนที่ผ่านมา เว็บไซต์ NEWS Atlas เผยแพร่บทความเกี่ยวกับงานวิจัยของมหาวิทยาลัยกวม ที่ใช้กระจกวงแหวนรูปหกเหลี่ยมช่วยเพิ่มอัตราการรอดของต้นกล้า Serianthes nelsonii ต้นไม้ใหญ่ที่พบเฉพาะบนเกาะกวม ซึ่งอยู่ในภาวะ “ใกล้สูญพันธุ์” แม้จะมีความพยายามเพาะต้นกล้าในเรือนเพาะ แต่เมื่อนำไปปลูกในป่า ก็ยังมีอัตราการรอดน้อย ขณะที่ต้นกล้าที่ขึ้นเองตามธรรมชาติก็อยู่ในสถานการณ์น่าเป็นห่วงเช่นเดียวกัน ทั้งนี้นักวิจัยคิดว่าปัจจัยสำคัญคือ การได้รับแสงแดดไม่เพียงพอ

ทีมวิจัยจึงคิดค้นหาวิธีเพิ่มแสงแดดตามธรรมชาติให้แก่ต้นกล้า โดยได้แรงบันดาลใจจาก “พลาสติกคลุมดิน” ที่ทราบกันดีว่านอกจากป้องกันวัชพืชได้แล้วยังสะท้อนแสงกลับไปยังต้นพืชได้ด้วย ทีมวิจัยทดลองใช้กระจกชิ้นหกเหลี่ยมมาประกอบเป็นรูปวงแหวน ให้ต้นกล้าเจริญในช่องว่างตรงกลาง แล้วแบ่งการทดลองออกเป็นสองกลุ่มคือ กลุ่มที่ปล่อยให้กระจกรับแสงปกติ และกลุ่มที่ปิดคลุมกระจกรับแสง ทดลองทั้งในพื้นที่ป่าและในเรือนเพาะชำ พบว่ากระจกที่เปิดรับแสงสามารถสะท้อนแสงแดดไปที่พืชได้มากกว่า 70 เปอร์เซนต์ และพืชกลุ่มนี้เติบโตดีกว่ากลุ่มที่ปิดคลุมกระจกถึง 175 เปอร์เซนต์ มีอัตราการรอดสูงกว่า 161 เปอร์เซนต์ ทีมวิจัยเห็นว่าการทดลองใช้วงแหวนกระจกจึงน่าจะเป็นแนวทางที่ดีภายใต้ต้นทุนต่ำ เพื่อสร้างโอกาสรอดให้กับต้นกล้าจำนวนมหาศาลทั้งในเรือนเพาะชำและในป่า



https://www.guampedia.com/guam-tree-hayun-lagu/
อ้างอิง
https://newatlas.com/science/forest-floor-mirrors-seedling-growth