สายมูหลบไป สายหมอมาแล้วกับรอยสักอิเล็กทรอนิกส์
Science News Categories
Publish date
05/12/2024
Image
1

รอยสักอิเล็กทรอนิกส์ งานวิจัยสู่ความหวังพลิกโฉมการตรวจคลื่นสมองแบบเดิม

วันที่ 2 ธันวาคมที่ผ่านมา เว็บไซต์ sciencenews  รายงานผลงานวิจัยของศาสตราจารย์ Nanshu Lu และทีมวิจัยมหาวิทยาลัยเท็กซัสที่ออสติน จากการคิดค้น “รอยสักอิเล็กทรอนิกส์” เพื่อลดปัญหาจากเครื่อง EEG หรือ Electroencephalography สำหรับตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง จากเดิมต้องใช้ขั้วไฟฟ้าติดบนหนังศีรษะเพื่อเก็บสัญญาณจากสมอง แต่หากผู้รับการตรวจมีเส้นผมหนาหรือหยิก จะทำให้ขั้วไฟฟ้านั้นสัมผัสกับหนังศีรษะไม่เต็มที่  รวมถึงการต้องใช้ร่วมกับเจลที่มักจะแห้งเร็วและมีผลต่อการอ่านค่า  การโยงใยกับสายไฟหลายเส้นที่ทำให้ไม่สะดวกสักเท่าไร

1
เครดิตภาพ Nanshu Lu

 

1
เครดิตภาพ Nanshu Lu

 

รอยสักอิเล็กทรอนิกส์นี้อาศัยเครื่องพิมพ์ไมโครเจ็ทที่พ่นของเหลวผสมโพลิเมอร์นำสัญญาณไฟฟ้าได้ลงบนตำแหน่งต่าง ๆ บนหนังศีรษะด้วยความแม่นยำ ของเหลวนี้จะซึมผ่านเส้นผมและแห้งบนหนังศีรษะ เห็นเป็นลายเส้นคล้ายวาดด้วยปากกา  นักวิจัยกล่าวว่าจากการทดสอบรอยสักอิเล็กทรอนิกส์นี้เก็บข้อมูลได้นานกว่าขั้วไฟฟ้าเครื่อง EEG แบบเดิมที่เก็บได้ราว 6 ชั่วโมง และล้างออกได้ง่าย ๆ ด้วยน้ำสบู่

ทีมนักวิจัยกล่าวว่า จะนำระบบใหม่นี้ไปทดลองกับผู้ที่มีเส้นผมประเภทต่าง ๆ และจะนำไปทดลองใช้กับส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย เช่น หัวใจ กระดูก กล้ามเนื้อ และเชื่อว่าระบบรอยสักอิเล็กทรอนิกส์จะพัฒนาไปจนถึงขั้นทำให้ร่างกายมีการเชื่อมข้อมูลกับคอมพิวเตอร์ได้ราวกับเป็นหนึ่งเดียว

 

1

 

อ้างอิง

https://www.sciencenews.org/article/electronic-tattoos-brain-monitoring

Created by
เรียบเรียงโดย วารี อัศวเกียรติรักษา นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ