
AI
จากเลียนแบบมนุษย์ถึงเหนือมนุษย์?
ปัญญา แท้ เทียม แทน
Artificial Intelligence แปลตรงตัวว่า ปัญญาเทียม หรือปัญญาประดิษฐ์ เป็นเทคโนโลยีที่กำลังเข้ามาเปลี่ยนแปลงโลกยุคนี้อย่างรวดเร็ว อุปกรณ์รอบตัวในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่โทรศัพท์มือถือ smart watch รถยนต์ เครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น ฯลฯ เริ่มฝังอุปกรณ์ที่มี AI เพื่อช่วยบริหารและจัดการงานอย่างชาญฉลาด ตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมและความต้องการต่างๆ แบบอัตโนมัติ ราวกับมี “ผู้เชี่ยวชาญ” แท้ๆ ทำงานแทน แต่ด้วยประสิทธิภาพและประสิทธิผลที่สูงกว่า ทั้งในแง่การรับมือกับข้อมูลจำนวนมากอย่างรวดเร็ว และให้ผลลัพธ์ที่มีคุณภาพสูง ผิดพลาดต่ำกว่าที่ให้มนุษย์ทำ ในอนาคตคาดว่าอุปกรณ์แทบทุกอย่างจะมี AI ฝังอยู่เป็นสมองกลช่วยตัดสินใจแทนมนุษย์
สติปัญญาที่ถือว่าเป็นเรื่องท้าทายสำหรับ AI คือความเข้าใจด้านภาษาธรรมชาติ (Natural Language) ที่คนใช้สื่อสารกันในชีวิตประจำวัน และความเข้าใจด้านการมองเห็น (Vision) เช่น ภาพเคลื่อนไหว ทำให้มีการแข่งขันกันพัฒนาในสองด้านนี้อย่างสูง เช่น การพัฒนา ChatGPT ซึ่งเป็น AI ด้านภาษาที่สามารถสนทนาด้วยภาษาธรรมชาติในเรื่องราวต่างๆ เสมือนกับเป็นบุคคลคนหนึ่ง
คาดการณ์ว่าในปี ค.ศ. 2030 ระบบ AI จะเข้าทำงานต่างๆ แทนที่มนุษย์มากถึง 400-800 ล้านตำแหน่งทั่วโลก เกิดการดิสรัปต์อาชีพที่มนุษย์เคยรับผิดชอบมานาน ในระยะแรก อาชีพซึ่งถูกแทนที่จะเป็นงานซึ่งใช้ทักษะความสามารถไม่สูงนักหรือตัดสินใจได้เร็ว ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันแล้ว เช่น แชตบอต (Chatbot) ที่มาแทนอาชีพพนักงานรับโทรศัพท์ลูกค้า ระบบรักษาความปลอดภัยด้วยอุปกรณ์กล้องตรวจจับที่มาแทนอาชีพยาม ระบบสแกนคิวอาร์โค้ดที่มาแทนพนักงานแคชเชียร์ในร้านสะดวกซื้อ ฯลฯ
แม้จะมีอาชีพที่ถูกแทนที่ด้วย AI แต่ก็คาดว่า AI จะช่วยสร้างงานหรืออาชีพใหม่ๆ กว่า 555-890 ล้านตำแหน่ง ส่วนในอนาคตจะถึงขั้น AI ครองโลกควบคุมมนุษย์เป็นทาสเหมือนในภาพยนตร์ไซไฟหรือไม่นั้น เชื่อว่ายังคงเป็นเพียงเรื่องเล่าในจินตนาการ
AI ในอดีต
AI ยุคแรกเน้นการเลียนแบบทักษะพิเศษบางด้านของมนุษย์ เช่น การเล่นหมากรุก เกมโกะ ฯลฯ โดยเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์กำหนดอัลกอริธึม (Algorithm) หรือกระบวนการคิดแบบเฉพาะเจาะจงให้คอมพิวเตอร์คำนวณประกอบฐานข้อมูลที่ป้อนข้อมูลตายตัวไว้แล้ว ด้วยความเร็วและความจำมหาศาลของคอมพิวเตอร์ทำให้เอาชนะมนุษย์ได้ เช่น คอมพิวเตอร์ IBM Deep Blue ที่ชนะแชมป์หมากรุกโลกในปี ค.ศ. 1997 ก่อนที่อีก 20 ปีต่อมาเครื่อง AlphaGO ซึ่งพัฒนาความสามารถด้วย Machine Learning จะเอาชนะเซียนโกะระดับโลกในปี ค.ศ. 2017
“บิดา” ของ AI
จอห์น แมกคาร์ธี (John McCarthy) เป็นผู้ให้กำเนิดคำว่า Artificial Intelligence ในปี ค.ศ. 1955 และได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางว่าเขาคือบิดาของ AI ทั้งในฐานะผู้เสนอแนวคิดสำคัญหลายอย่างของ AI และการพัฒนาภาษาคอมพิวเตอร์ LISP ซึ่งใช้วิจัยด้าน AI นอกจากนี้ยังมีนักคณิตศาสตร์ที่ได้ชื่อว่าเป็นบิดาของ AI คือ อลัน ทัวริง (Alan Turing) ผู้คิด Turing Machine ซึ่งเป็นไอเดียต้นกำเนิดของคอมพิวเตอร์ และ Turing Test ที่ใช้เป็นบททดสอบความสามารถของ AI จากการสนทนา ว่ามนุษย์จะสามารถแยกแยะได้หรือไม่ว่ากำลังคุยกับคนหรือคุยกับเครื่อง
ANN และ Deep Learning
เทคโนโลยีการสร้าง AI ถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่องในปัจจุบันคือ Deep Learning ซึ่งทำงานบนโครงข่ายประสาทเทียม Artificial Neural Network หรือ ANN ซึ่งมีแนวคิดจากการเลียนแบบโครงข่ายเซลล์ประสาทของสมองมนุษย์ โดยมีหน่วยประมวลผลเป็นโหนด (Node) จำนวนมาก เชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายแบบลำดับชั้น วิเคราะห์ข้อมูลนำเข้า (input) เป็นขั้นตอนแต่ละขั้นๆ ลงมาจนถึงขั้นสุดท้ายสรุปผลลัพธ์ (output) เป็นคำตอบของโจทย์ เช่น การแยกแยะภาพว่าเป็นวัตถุใด การแยกแยะเสียงว่าเป็นคำใด ฯลฯ
ระบบ Deep Learning เรียนรู้ที่จะหาคำตอบที่ถูกต้องด้วยตนเอง ผ่านกระบวนการ Machine Learning ซึ่งต่างจากการค้นหาคำตอบจากฐานข้อมูลที่บันทึกไว้ก่อนแล้วเหมือน AI ยุคแรก AI ยุคนี้จึงสามารถรับมือกับข้อมูลใหม่ๆ ที่อาจไม่เคยเห็นมาก่อน
Machine Learning และ Big Data
การสอน AI ให้เรียนรู้เรียกว่า Machine Learning มีหลายวิธี เช่น
· supervised learning สอนแบบป้อนข้อมูลเข้าที่มีเฉลยคำตอบไว้แล้ว เช่น ภาพสิ่งของที่เขียนคำว่า ขยะ หรือไม่ใช่ขยะ เพื่อสอนให้ AI รู้จักแยกแยะขยะ
· reinforcement learning สอนโดยไม่บอกคำตอบก่อน แต่ให้คะแนนกับคำตอบของ AI เพื่อให้นำไปปรับปรุงการคิดวิเคราะห์ จนกว่าจะได้คะแนนสูงสุด เช่น การสอนให้ขับรถตามกฎจราจร
· unsupervised learning สอนแบบทำวิจัย ให้ AI วิเคราะห์หาความสัมพันธ์ของข้อมูลจำนวนมากเพื่อค้นหาคำตอบใหม่ๆ
ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้แบบไหน สิ่งสำคัญที่ส่งผลให้การเรียนรู้เกิดประสิทธิผล คือข้อมูลนำเข้า ยิ่งมีข้อมูลจำนวนมากที่มีคุณภาพ หรือที่เรียกว่า Big Data ก็ยิ่งส่งผลต่อความฉลาดของ AI
ในทางกลับกัน หากข้อมูลที่นำเข้ามีน้อยเกินไป หรือเบี่ยงเบนมาก AI ก็จะให้คำตอบที่ผิดพลาดตามข้อมูลที่เรียนรู้ด้วย
“ปัญญาประดิษฐ์คือไฟฟ้ายุคใหม่”
“Artificial Intelligence is a new electricity”
Andrew Ng
นักพัฒนา AI ระดับแนวหน้า ผู้ก่อตั้ง Google Brain และอดีตหัวหน้าทีมพัฒนา AI ของ Baidu ที่เปรียบว่าการเกิดขึ้นของ AI ก็เหมือนกับยุคที่มนุษย์มีไฟฟ้าใช้ครั้งแรก นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาของโลกในหลายมิติทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
ผลกระทบเชิงบวก
· ลดข้อจำกัดของมนุษย์ และช่วยทำนายเหตุการณ์ล่วงหน้าได้แม่นยำ เช่น การพยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร การวิเคราะห์ตลาดหุ้น การวินิจฉัยโรค ฯลฯ
· ทำงานแทนมนุษย์ในงานที่มีความเสี่ยงภัย เช่น การทำงานในที่สูง ใต้น้ำ หรือใต้ดิน หุ่นยนต์กู้ภัย ฯลฯ
· เพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรและพลังงาน รวมทั้งเพิ่มผลิตผล ด้วยความรวดเร็วและแม่นยำ เช่น ระบบอัตโนมัติในโรงงาน อาคารสำนักงาน
ผลกระทบเชิงลบ
· การใช้งานผิดกฎหมาย เช่น การสร้างภาพ วิดีโอ เสียง ข้อความ เพื่อหลอกลวงหรือฉ้อโกง
· การตกงานของผู้คนในอาชีพที่ถูก AI แทนที่ และไม่สามารถปรับตัวเรียนรู้เพื่อเข้าสู่อาชีพที่เกิดขึ้นใหม่ได้ทัน
· ความเหลื่อมล้ำด้านเทคโนโลยีและเศรษฐกิจของประเทศพัฒนาที่ล้ำหน้าด้าน AI กับประเทศด้อยพัฒนาที่ก้าวตามไม่ทัน
แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม
[1] https://www.etda.or.th/th/Useful-Resource/Knowledge-Sharing/Articles/AI-in-Government-Services.aspx
[2] https://www.depa.or.th/th/article-view/tech-series-artificial-intelligence-ai
[3] https://www.ibm.com/topics/artificial-intelligence
#DisruptiveTechnology
#AI #เอไอ #ปัญญาประดิษฐ์
#ChatGPT #ChatBot
#DeepLearning #MachineLearning
#BigData
#CuriosityWINS
#ดินแดนแห่งการค้นพบความมหัศจรรย์ของวิทยาศาสตร์
#พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ #ITMuseumThailand
#องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ #อพวช #NSMThailand