
Internet of Things (IoT)
Everything Everywhere
มากกว่า “สิ่ง”
สมาร์ตวอตช์ กล้องรักษาความปลอดภัย GPS ปลอกคอสัตว์เลี้ยง Tag RFID ป้ายสินค้า ฯลฯ ซึ่งเราคุ้นเคยกันดี และมักยกเป็นตัวอย่างของ Internet of Thing (IoT) จนเข้าใจกันว่า IoT ก็คือบรรดา “สิ่ง” หรืออุปกรณ์ที่มีความสามารถพิเศษ แต่ความจริงความหมายของ IoT ลึกซึ้งและกว้างขวางกว่านั้นมาก
ย้อนไปในปี ค.ศ. 1999 เควิน แอชตัน (Kevin Ashton) ผู้เสนอคำและแนวคิดของ Internet of Things ขึ้นเป็นครั้งแรก ได้ให้ความหมายของ IoT ว่าคือ ระบบอินเตอร์เน็ตที่เชื่อมต่อกับโลกด้วยเซนเซอร์ที่มีอยู่ทุกหนทุกแห่ง ทำให้คอมพิวเตอร์สามารถรับรู้โลกด้วยตัวมันเอง โดยไม่ต้องรอมนุษย์มาป้อนข้อมูลให้ ซึ่งมีข้อจำกัดทั้งเวลาที่ใช้ ความถูกต้อง และปริมาณข้อมูลที่ป้อนให้ แนวคิดของเขาถูกโจมตีและวิจารณ์อย่างมากว่าเป็นไปไม่ได้ แต่ปัจจุบันการนำข้อมูลบางส่วนของโลกกายภาพส่งผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเข้าไปประมวลผลในระบบคอมพิวเตอร์ ปรากฏเป็นจริงและใช้ประโยชน์ในหลายแง่มุมของสังคม แม้จะยังห่างไกลจากการมีเซนเซอร์ในทุกหนทุกแห่งดังที่เควินจินตนาการไว้
ยกตัวอย่างข้อมูลตำแหน่ง GPS ของบุคคลและรถแท็กซี่ เมื่อนำมาใช้ร่วมกันจึงเกิดเป็นแพลตฟอร์มบริการรถแท็กซี่ที่ช่วยให้ผู้โดยสารไม่ต้องรอรถอย่างไร้ความหวัง และลดการวิ่งตามหาลูกค้าอย่างเปลืองน้ำมันของแท็กซี่ นอกจากนี้ IoT ยังถูกนำไปใช้ร่วมกับระบบอัตโนมัติต่างๆ เช่น ระบบยานยนต์ไร้คนขับ ซึ่งต้องมีเซนเซอร์รับรู้ข้อมูลบนท้องถนนที่ซับซ้อนและคาดเดาไม่ได้ เพื่อบังคับรถแบบเรียลไทม์อย่างปลอดภัย ระบบไฟสัญญาณจราจรที่รับรู้ปริมาณรถจากทุกท้องถนนเพื่อกำหนดช่วงเวลาเปิดปิดไฟให้การจราจรคล่องตัว ไปจนถึงเครื่องซักผ้าที่สามารถแยกแยะประเภทผ้าที่จะซักด้วยตัวเอง
Internet of Things จึงมีความหมายมากกว่าอุปกรณ์ที่ฝังชิปจิ๋วๆ ไว้หรือที่เรียกว่า Smart Device แต่เป็นมองให้เห็นถึงการใช้ประโยชน์จากการเชื่อมต่อข้อมูลระหว่าง “ใครก็ได้ สิ่งใดก็ได้ (มีชีวิตและไม่มีชีวิต) เมื่อใดก็ได้ ที่ไหนก็ได้” และให้ระบบทำงานบางอย่างด้วยตัวเองโดยไม่จำเป็นต้องรอคำสั่งจากมนุษย์
ยิ่งในอนาคตเมื่อ AI เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของระบบ IoT ในการวิเคราะห์ข้อมูลของโลกกายภาพซึ่งเป็น Big Data และ “ทุกสิ่ง” สามารถสื่อสารกันเองได้ใน “ทุกแห่ง” ทุกเวลา IoT ก็จะพลิกโฉมโลกไปอย่างที่เราคาดไม่ถึง
Quote
“แท้จริงแล้ว Internet of Thing คือเทคโนโลยีสารสนเทศที่สามารถรวบรวมข้อมูลด้วยตัวเอง และกระทำการต่อบางอย่าง ไม่ใช่แค่บอกข้อมูลบางอย่างให้มนุษย์รู้”
(“What the Internet of Things is really about is information technology that can gather its own information. Often what it does with that information is not tell a human being something, it [just] does something.” — Kevin Ashton)
Everything
ทุกสิ่งมีความเป็นไปได้ที่จะกลายเป็น IoT แต่หากแบ่งตามการทำงานในปัจจุบัน อาจแบ่ง IoT ได้เป็น 4 ประเภท คือ
Tagging Things – อุปกรณ์ติดตามตำแหน่ง และระบุตัวตนของสิ่งต่างๆ
Feeling Things – อุปกรณ์รับรู้ข้อมูลของสิ่งแวดล้อม เช่น อุณหภูมิ ความชื้นสัมพัทธ์ อัตราการเต้นของหัวใจ ฯลฯ
Shrinking Things – อุปกรณ์รับรู้ข้อมูลสิ่งแวดล้อมระดับจิ๋วด้วยนาโนเทคโนโลยี เช่น นาโนเซนเซอร์ตรวจจับสารเคมีในระบบ
Thinking Things – อุปกรณ์ที่ประมวลข้อมูล สื่อสาร และตัดสินใจได้ด้วยตัวเอง
Everywhere
ทุกแห่งสามารถติดตั้ง IoT เพื่อทำงาน เช่น
บ้าน – ระบบควบคุมอุปกรณ์ไฟฟ้า เช่น ไฟส่องสว่าง ตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ ระบบติดตามและดูแลสุขภาพของคนสูงวัยเชื่อมกับโรงพยาบาล
ห้าง/ร้านค้าปลีก – ระบบบริหารจัดการคลังสินค้า การวิเคราะห์ข้อมูลลูกค้าที่เข้าร้าน
โรงเรียน – ระบบติดตามความปลอดภัยในการเดินทางของนักเรียน
โรงงาน - ระบบโรงงานเสมือน Digital Twin การบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน การบริหารจัดการพลังงาน
ถนน – การบริหารสัญญาณไฟจราจร การวิเคราะห์พฤติกรรมพนักงานขับรถขนส่ง
เมือง – ระบบ Smart Grid รับส่งพลังงานไฟฟ้า ระบบการดูแลสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย
พื้นที่เกษตร -ระบบบริหารจัดการน้ำ การให้ปุ๋ย การตรวจจับโรคพืช
Thing of Thing
ส่วนประกอบสำคัญของ IoT เช่น
Sensor - อุปกรณ์รับรู้ข้อมูลของทางกายภาพ เช่น แสงสว่าง อุณหภูมิ การเคลื่อนไหว ฯลฯ ซึ่งเซนเซอร์อาจทำงานร่วมกับชิปคอมพิวเตอร์ที่ช่วยเก็บข้อมูลและประมวลผลข้อมูลเบื้องต้น
Actuator – อุปกรณ์ทำงานตามคำสั่งจากการประมวลผลข้อมูล เช่น สวิตช์อัตโนมัติ
Connectivity – การเชื่อมต่อข้อมูลเข้าเครือข่ายอินเทอร์เน็ตผ่านสัญญาณไวไฟ บลูทูธ ระบบเซลลูลาร์ (โทรศัพท์มือถือ) หรือดาวเทียม
Data processing – ระบบเก็บข้อมูลและประมวลผลที่สามารถเข้าถึงได้ตลอดเวลาในเครือข่ายอินเทอร์เน็ต เช่น ระบบคลาวด์ หรือ Edge Computing ที่วางระบบประมวลผลไว้ใกล้ตำแหน่งอุปกรณ์มากที่สุดเพื่อควบคุมการทำงานได้ทันสถานการณ์
User Interface – ระบบแสดงผลและรับคำสั่งจากมนุษย์ เพื่อให้คนควบคุมและติดตามระบบ IoT ได้
ปัจจุบันโทรศัพท์มือถือจัดเป็นอุปกรณ์สำคัญของ IoT เพราะพกพาง่าย ใช้เป็น User Interface ที่ดีและเชื่อมต่อกับเซนเซอร์ได้สะดวก
ผลกระทบเชิงบวก
· เครื่องมือและอุปกรณ์มีความฉลาด ทำงานแบบอัตโนมัติ และมีประสิทธิภาพมากขึ้น ช่วยลดการใช้พลังงานและทรัพยากร
· แจ้งเตือนตรวจจับความผิดปกติและป้องกันเหตุได้ล่วงหน้า ลดการเจ็บป่วยหรือความเสียหาย เช่น สุขภาพของคน หรือเครื่องจักร
ผลกระทบเชิงลบ
· ความเสี่ยงต่อความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคลจากการโจมตีในระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต
· การเก็บและประมวลผลข้อมูลอาจนำไปสู่การละเมิดสิทธิส่วนบุคคล
.
แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม
[2] https://supplychaindigital.com/top10/an-iot-timeline-from-kevin-ashton-mit-to-digital-twins
.
#DisruptiveTechnology
#IoT #InternetOfThing
#CuriosityWINS
#ดินแดนแห่งการค้นพบความมหัศจรรย์ของวิทยาศาสตร์
#พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ #ITMuseumThailand
#องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ #อพวช #NSMThailand
.
Created by
กองวิชาการเทคโนโลยีและนวัตกรรม
สำนักวิชาการพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ