
Smart City
เมืองอัจฉริยะ น่าอยู่และยั่งยืน
ย้อนไป 30-40 ปีก่อน คนในยุคนั้นคงนึกไม่ออกว่าสังคมจะเปลี่ยนไปได้มากแค่ไหน เมื่อเครือข่ายดิจิทัล สังคมออนไลน์ เข้าครอบครองตารางเวลาและกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ทั่วโลก
โลกในอีก 30-40 ปีข้างหน้าก็เช่นกัน
เมื่อเมืองที่เราอาศัยอยู่ เปลี่ยนรูปโฉมไปอย่างสิ้นเชิง กลายเป็นเมืองอัจฉริยะ หรือ Smart City ที่อาจก้าวล้ำราวกับเมืองในภาพยนตร์ไซไฟ
จากเมืองที่การจราจรแออัดด้วยถนนและรถยนต์ ปล่อยมลพิษฝุ่นควัน เปลี่ยนเป็นเมืองที่ใช้ระบบขนส่งสาธารณะสารพัดรูปแบบต่อเชื่อมกัน ไฟจราจรอัจฉริยะ รถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ เส้นทางจักรยานและทางเท้าที่สะดวกและปลอดภัย
จากเมืองที่สกปรกเกลื่อนไปด้วยขยะมูลฝอย เปลี่ยนเป็นเมืองที่มีระบบจัดการขยะที่มีประสิทธิภาพ จัดเก็บ แปรรูปกลับมาเป็นพลังงาน และวัตถุดิบสำหรับการรีไซเคิล ไม่เหลือขยะมลพิษออกสู่สิ่งแวดล้อมทั้งผืนดินและแหล่งน้ำ
.
จากเมืองที่หนาแน่นด้วยอาคารบ้านเรือนไปจนถึงตึกสูงเสียดฟ้า บริโภคพลังงานและทรัพยากรอย่างสิ้นเปลือง กลายเป็นเมืองที่ทุกอาคารใช้พลังงานและทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด แต่ละอาคารมีระบบผลิตพลังงานหมุนเวียนใช้เอง มีการวางผังเมืองสวยงาม และพื้นที่สีเขียว
เมืองที่มีการก่ออาชญากรรม โจรผู้ร้าย และอุบัติภัย กลายเป็นเมืองที่มีระบบตรวจตราเฝ้าระวังสิ่งผิดปกติแบบเรียลไทม์ และระบบบรรเทาสาธารณภัยที่ตอบสนองได้ทันสถานการณ์ ลดความเสียหายและช่วยเหลือผู้ประสบเหตุให้ปลอดภัย
ความหมายของเมืองอัจฉริยะ จึงไม่ใช่การสร้างเมืองเพื่ออวดความไฮเทคด้วยอุปกรณ์ล้ำๆ แต่คือเมืองที่ใช้เทคโนโลยีเพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิตของผู้คน พร้อมกับเป็นเมืองที่ยั่งยืน ด้วยความใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม ลดการใช้ทรัพยากร ลดการปล่อยของเสียและมลพิษ ขณะเดียวกันเมืองที่ดีและมีประสิทธิภาพก็เป็นฐานรองรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ให้มีความคล่องตัวและเติบโตอย่างมั่นคง สนับสนุนให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ที่ดีขึ้นกว่าเดิม
ปัจจุบันเมืองใหญ่หลายเมืองในประเทศต่างๆ กำลังยกระดับสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ เช่น สิงคโปร์, บาร์เซโลนา (สเปน), ดูไบ (สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์), โคเปนเฮเกน (เดนมาร์ก) ฯลฯ และหลายประเทศก็กำลังวางแผนสร้างเมืองอัจฉริยะขึ้นมาใหม่ เช่น Neom ซาอุดิอาระเบีย, Songdo เกาหลีใต้, Amaravati อินเดีย ฯลฯ
การพัฒนาเมืองอัจฉริยะยังถือว่าอยู่ในระยะหัดเดิน และก้าวไปพร้อมๆ กับการพัฒนาดิสรัปต์เทคโนโลยีอื่นๆ ทั้ง AI, Internet of Things (IoT), Big Data, Virtual Reality (VR) และ Augmented Reality (AR), พลังงานทดแทนและพลังงานสะอาด, ยานยนต์ไฟฟ้าและยานยนต์อัตโนมัติ ฯลฯ
เช้าวันหนึ่ง เราจะตื่นขึ้นมาในเมืองอัจฉริยะหรือไม่
คำตอบน่าจะมาจากทุกคนที่ต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดอนาคตเมืองของตนเอง
#DisruptiveTechnology
#SmartCity #เมืองอัจฉริยะ
#CuriosityWINS
#ดินแดนแห่งการค้นพบความมหัศจรรย์ของวิทยาศาสตร์
#พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ #ITMuseumThailand
#องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ #อพวช #NSMThailand
Created by
กองวิชาการเทคโนโลยีและนวัตกรรม
สำนักวิชาการพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์
แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม
[1] https://www.depa.or.th/th/smart-city-plan/smart-city-office