Submitted by NSM Content Admin on 7 February 2025
Virtual Reality (VR)
Image

Virtual Reality (VR)

มายาแห่งโลกเสมือน

 

เทพนิยาย เทพเจ้า วีรชน ตำนานเล่าขาน บรรดาโลกที่เราไม่เคยเห็น แต่เชื่อว่ามีจริง และฝันจะเป็นส่วนหนึ่ง ฝังอยู่ในวัฒนธรรมของมนุษย์มานมนาน อาจเพราะสัญชาตญาณนักเดินทางที่อยากสัมผัสประสบการณ์แปลกใหม่ เพื่อหนีจากสภาพแวดล้อมเดิมๆ  เริ่มจากการถ่ายทอดผ่านคำบอกเล่า วิวัฒนาการมาเป็นตัวอักษรในบันทึกที่ผู้อ่านร่วมเดินทางไปกับผู้เขียนในความคิด จนมาถึงละครเวที และภาพยนตร์ที่ฉายภาพให้ผู้ชมหลงเข้าไปอยู่กับฉากและตัวละครที่สมมติขึ้น

 

ที่ผ่านมาโลกในจินตนาการนี้รับรู้ผ่านประสาทสัมผัสการมองเห็น จนถึง ค.ศ. 1962 มอร์ตัน ไฮลิก (Morton Heilig) ได้สร้างเครื่องต้นแบบสัมผัสผสม รับประสบการณ์ผ่านการชมภาพยนตร์ พร้อมสัมผัสเสียง กลิ่น และแรงสั่นสะเทือนทางกาย เรียกว่า Sensorama แต่ไม่มีนายทุนรับผลิตเครื่องนี้ในเชิงการค้า ภายหลังถือว่าเป็น VR เครื่องแรกของโลก  อีก 6 ปีต่อมาใน ค.ศ. 1968 นักคอมพิวเตอร์ อิวาน ซูเทอร์แลนด์ (Ivan Sutherland) ได้พัฒนาต้นแบบจอแสดงภาพแบบสวมศีรษะ (Head-Mounted Display, HMD) เครื่องแรกของโลก ซึ่งประกอบด้วยอุปกรณ์เป็นก้านระโยงระยางเหนือหัว มีชื่อว่า “The Sword of Damocles  แล้วกว่า HMD จะได้รับการพัฒนาให้ใช้งานสะดวกขึ้นสำหรับชมภาพจำลองโลกสามมิติในคอมพิวเตอร์ก็คือในปี ค.ศ. 1991

 

ระหว่างช่วงคริสต์ทศวรรษ 1970-1980 เกมคอมพิวเตอร์สนุกๆ กลายเป็นโลกมายาสองมิติที่คนหลงใหล พร้อมกับมีการประดิษฐ์คำว่า Virtual Reality (VR) ขึ้น  ข้ามสู่ศตวรรษที่ 21 อุตสาหกรรมเกมคอมพิวเตอร์ที่ใช้เทคโนโลยี VR พัฒนาก้าวหน้า มีผู้เล่นเกมทั่วโลกต่างสวมบทบาทในโลกจินตนาการเพื่อทำภารกิจที่เขาไม่อาจเป็นได้ในโลกจริง  ยิ่งกว่านั้น VR ยังนำมาใช้สนับสนุนกิจกรรรมมากมายในสังคมดิจิทัลออนไลน์ เช่น การประชุมออนไลน์ การท่องเที่ยวเสมือน ซึ่งนอกจากการรับรู้มิติในโลกจำลองผ่าน HMD แล้ว ยังมีอุปกรณ์ที่ใช้ตอบโต้กับสิ่งต่างๆ ในโลกเสมือนด้วย เช่น ระบบติดตามการเคลื่อนไหวของร่างกาย (Tracking System) อุปกรณ์บังคับสั่งการวัตถุจำลอง และที่ขาดไม่ได้เลยคือระบบเสียงสร้างมิติบรรยากาศของสถานที่

 

แม้มีการคาดหมายว่า VR จะปฏิวัติสังคมดิจิทัลออนไลน์ให้ก้าวสู่ยุคใหม่ ยุคที่คนมีชีวิตอยู่ในสองโลก แต่ก็มีผู้ออกมาเตือนภัยอันน่าหวาดหวั่นหากผู้คนติดหลงอยู่ในโลกเสมือนจนส่งอิทธิพลเหนือตัวตนในโลกจริง และยังสุ่มเสี่ยงต่อการถูกล้างสมองโดยผู้มีอำนาจควบคุมโลกเสมือน ผ่านการสร้างภาพมายาที่จะกำหนดวิธีคิดและพฤติกรรมของคนในสังคมได้ดั่งใจ

 

อนาคตของเทคโนโลยี VR จะเป็นอย่างไร อาจไม่สำคัญเท่ากับมนุษย์จะใช้มันอย่างไร และเพื่อประโยชน์ของใคร

 

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

[1] https://thegrowthmaster.com/blog/vr-ar-mr-metaverse

[2] https://www.techtarget.com/whatis/definition/virtual-reality

[3] https://www.simplilearn.com/tutorials/artificial-intelligence-tutorial/what-is-virtual-reality

 

#DisruptiveTechnology

#VirtualReality #VR

#CuriosityWINS

#ดินแดนแห่งการค้นพบความมหัศจรรย์ของวิทยาศาสตร์

#พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ #ITMuseumThailand

#องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ #อพวช #NSMThailand

 

Created by

กองวิชาการเทคโนโลยีและนวัตกรรม

สำนักวิชาการพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ

Science Knowledge Type
Picture