ไม่นานมานี้สำนักข่าวต่างประเทศหลายสำนักได้เผยแพร่เรื่องราวของ “มากาวอา” (Magawa) หนูนักล่าระเบิด ซึ่งทำหน้าที่ค้นหาทุ่นระเบิดที่ยังทำงาน และไม่ทำงานเกือบร้อยลูก ตลอดการทำงาน 5 ปี ในพื้นที่ขนาดเท่ากับ 20 สนามฟุตบอล ที่เคยเกิดสงครามในจังหวัดเสียมราฐ ประเทศกัมพูชา และเป็นหนูตัวแรกที่ได้รับเหรียญกล้าหาญสำหรับสัตว์ (PDSA Gold Medal) ซึ่งมอบให้กับสัตว์ที่อุทิศตัวช่วยเหลือมนุษย์ ในปี พ.ศ. 2563 ก่อนจะเกษียณอายุในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2564 นี้
องค์การไม่แสวงหาผลกำไร “APOPO” ประเทศแทนซาเนีย ดำเนินการฝึกฝนหนูยักษ์แอฟริกา (Gambian pouched rat) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2533 เพื่อปฏิบัติหน้าที่ค้นหาวัตถุระเบิด ลดความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บ และเสียชีวิตของผู้ปฏิบัติงานเก็บกู้วัตถุระเบิดทั้งที่เป็นมนุษย์และสุนัข เพราะหนูยักษ์แอฟริกามีประสาทสัมผัสการดมกลิ่นที่ยอดเยี่ยม เคลื่อนที่รวดเร็ว และน้ำหนักเบา ทำให้แรงสั่นสะเทือนจากการเคลื่อนที่ของหนูยักษ์แอฟริกาไม่กระตุ้นให้ทุ่นระเบิดที่ซ่อนอยู่ใต้ดินทำงาน อีกทั้งลดเวลาค้นหาในพื้นที่ขนาด 2000 ตารางฟุตจาก 4 วัน เหลือเพียง 20 นาทีเท่านั้น
การฝึกหนูยักษ์ใช้เวลา 9 เดือน เริ่มจากนำลูกหนูอายุ 4-5 สัปดาห์ ซึ่งเป็นช่วงอายุที่เหมาะแก่การเรียนรู้ มาฝึกประสาทสัมผัสและปรับพฤติกรรม จากนั้นนำมาฝึกพื้นฐานการเชื่อมโยงเสียงกับการรับรางวัลเพื่อสร้างแรงจูงใจในการค้นหา แล้วจึงฝึกการแยกแยะกลิ่นของวัตถุระเบิดซึ่งเป็นเป้าหมายที่เรียกว่า ไตรไนโตรโทลูอีน (Trinitrotoluene หรือ TNT) ออกจากกลิ่นทั่วไปในชีวิตประจำวัน โดยเริ่มจากกลิ่นเป้าหมายที่เข้มข้นไปจนถึงกลิ่นที่เจือจาง ก่อนนำไปฝึกต่อในพื้นที่จำลองซึ่งใกล้เคียงสถานที่จริง ทั้งนี้การฝึกทั้งหมดได้รับการวิจัย และพัฒนาอยู่ตลอดเวลา โดยอาศัยความรู้ด้านพฤติกรรมวิทยาที่ช่วยพัฒนาความสามารถในการค้นหาของหนูให้ดียิ่งขึ้น
องค์การ APOPO ได้นำหนูยักษ์แอฟริกามาช่วยกำจัดทุ่นระเบิดที่หลงเหลือจากสงครามในประเทศกัมพูชาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 โดยมีเป้าหมายที่จะกำจัดทุ่นระเบิดทั้งหมดภายในปี พ.ศ. 2565 นอกจากนี้ยังมีการฝึกหนูยักษ์แอฟริกาให้สามารถคัดกรองผู้ป่วยวัณโรค (Tuberculosis) ซึ่งเป็นโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจที่เสียงต่อการติดเชื้อ โดยร่วมมือกับหน่วยงานทางด้านสาธารณสุขในประเทศแทนซาเนีย โมซัมบิก และเอธิโอเปีย เพื่อแก้ปัญหาบุคคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อจากผู้ป่วยขณะทำการคัดกรองก่อนเข้าสู่กระบวนการรักษา
เรียบเรียงโดย: ปวิตา ลิขิตเดชาโรจน์ นักวิชาการ กองวิชาการวิทยาศาสตร์ สำนักวิชาการพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์
แหล่งข้อมูล: Magawa the hero rat retires from job detecting landmines. [ออนไลน์]. 2564, แหล่งที่มา: https://www.bbc.com/news/world-asia-57345703 [25 มิถุนายน 2564]
APOPO. [ออนไลน์]. 2564, แหล่งที่มา: https://www.apopo.org [25 มิถุนายน 2564]
HeroRAT Magawa - PDSA Gold Medal. [ออนไลน์]. 2564, แหล่งที่มา: https://www.pdsa.org.uk/what-we-do/animal-awards-programme/pdsa-gold-medal/magawa [25 มิถุนายน 2564]