ภัยเงียบในครัวฟองน้ำล้างจานแหล่งเพาะพันธ์ุแบคทีเรีย
Science News Categories
Publish date
04/03/2025
Image
1

คุณรู้หรือไม่ว่า อุปกรณ์ทำความสะอาดคู่ใจในครัวอย่าง "ฟองน้ำล้างจาน" อาจเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคที่น่ากลัวกว่าที่คุณคิด งานวิจัยหลายที่เผยว่า ฟองน้ำชิ้นเล็ก ๆ นี้ เต็มไปด้วยแบคทีเรียมหาศาล จนอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของคุณและคนในครอบครัว!

การใช้ฟองน้ำล้างจานในครัวเรือนเป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวัน แต่ถ้าจัดการไม่ดีฟองน้ำชิ้นนั้นอาจไม่ใช่ทางเลือกที่ดีที่สุดในแง่ของสุขอนามัย ฟองน้ำจะกลายเป็นแหล่งสะสมของเศษอาหารและความชื้น ซึ่งเป็นสภาพแวดล้อมที่เหมาะสำหรับการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย งานวิจัยจำนวนมากชี้ให้เห็นว่าฟองน้ำล้างจานอาจเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของแบคทีเรียหลายสายพันธุ์ ซึ่งบางชนิดอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพได้

ในปี 2022 ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยดุ๊ก (Duke University) พบว่าโครงสร้างของฟองน้ำที่มีรูพรุนหลากหลายขนาดช่วยให้แบคทีเรียเติบโตได้ดี ทั้งนี้การศึกษาพบว่า 5 ใน 10 สายพันธุ์ที่พบมากที่สุดมีความใกล้เคียงกับแบคทีเรียที่อาจก่อให้เกิดการติดเชื้อในผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ นอกจากนี้พบว่า 1 - 2% ของฟองน้ำล้างจานจากครัวเรือนในฟิลาเดลเฟียมีแบคทีเรียที่เกี่ยวข้องกับโรคอาหารเป็นพิษ ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของมาร์คัส เอเกิร์ต (Markus Egert) นักจุลชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยฟวร์ตวานเก็น (Furtwangen University) ในปี 2017 ประเทศเยอรมนีศึกษาจุลินทรีย์ในฟองน้ำล้างจานที่ผ่านการใช้งาน พบว่าฟองน้ำเหล่านี้มีแบคทีเรียมากถึง 362 สายพันธุ์ และในบางจุดมีความหนาแน่นของแบคทีเรียสูงถึง 54,000 ล้าน ตัวต่อตารางเซนติเมตร ซึ่งใกล้เคียงกับปริมาณแบคทีเรียที่พบในตัวอย่างอุจจาระของมนุษย์ หมายความว่าหากเราใช้ฟองน้ำล้างจานที่ไม่สะอาดนี้ อาจนำเชื้อโรคไปสู่จาน ชาม ภาชนะต่าง ๆ และอาหารที่เรากินเข้าไปไม่รู้ตัว

ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ฟองน้ำล้างจานกลายเป็นแหล่งสะสมของโคโลนีแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพ โดยเฉพาะในผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ การเปลี่ยนฟองน้ำบ่อย ๆ พร้อมกับการทำความสะอาดอย่างเหมาะสม เป็นวิธีที่ดีที่สุดในการรักษาสุขอนามัยของสมาชิกในครัวเรือน

1

 

อ้างอิง

BBC. (2025, February 24). ฟองน้ำล้างจานมักเต็มไปด้วยแบคทีเรีย ทางเลือกที่ดีกว่าคืออะไร ?. BBC News ไทย. https://www.bbc.com/thai/articles/cgl09nn3113o

 

ค้นคว้าเพิ่มเติม

Egert, M., et al. (2017). Microbiome analysis of used kitchen sponges reveals massive colonization by Acinetobacter, Moraxella, and Chryseobacterium species. Scientific Reports, 7(1), 5791. https://doi.org/10.1038/s41598-017-06055-9

Langsrud, S., et al. (2022). Comparative study of bacterial contamination in kitchen sponges and          brushes. Journal of Food Safety, 42(3), e12987. https://doi.org/10.1111/jfs.12987

Quinlan, J. J., et al. (2017). Prevalence of pathogenic bacteria in kitchen sponges and their potential cross-contamination risks. Journal of Food Protection, 80(5), 821-827. https://doi.org/10.4315/0362-028X.JFP-16-420

You, L., et al. (2022). Spatial structure and microbial interactions in kitchen sponges. Nature Communications, 13(1), 1234. https://doi.org/10.1038/s41467-022-28867-8

Created by
เรียบเรียงโดย ธีรภัทร์ จามจุรีรักษ์ กองสื่อสารวิทยาศาสตร์ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ