
โครงการสังเคราะห์จีโนมมนุษย์ เหรียญสองด้านขององค์ความรู้กับจริยธรรมมนุษย์
วันที่ 27 มิถุนายน 2568 เว็บไซต์ BBC รายงานการประกาศเดินหน้าโครงการสังเคราะห์จีโนมมนุษย์ (Synthetic Human Genome Project) ของทีมนักวิทยาศาสตร์นานาชาติ ที่ได้รับการสนับสนุนทุนส่วนใหญ่จากกองทุนเวลล์คัมทรัสต์ โดยจะสร้างยีนหรือดีเอ็นเอของมนุษย์ขึ้นมาใหม่ทั้งหมด เพื่อเป็นต้นแบบในการศึกษาวิจัยทางการแพทย์ รวมถึงค้นหาวิธีชะลอวัยและรักษาโรคต่าง ๆ ได้ดียิ่งขึ้น ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์เรื่องประเด็นด้านจริยธรรมที่อาจมีการนำเทคโนโลยีนี้ไปใช้ในทางที่ไม่เหมาะสม เช่น สร้างมนุษย์พันธุ์ใหม่ อาวุธชีวภาพ สัตว์แปลกประหลาดที่มีดีเอ็นเอมนุษย์
โครงการดังกล่าวนี้ถือเป็นโครงการลำดับต่อมาจากโครงการถอดรหัสพันธุกรรมมนุษย์ (Human Genome Project) ที่ดำเนินการสำเร็จไปเมื่อ 25 ปีก่อน ทำให้ได้แผนที่ของลำดับโมเลกุลต่าง ๆ ในดีเอ็นเอของมนุษย์มาทั้งหมด โครงการต่อมานี้จึงมีแนวคิดสังเคราะห์ดีเอ็นเอเทียมขึ้นแล้วต่อยอดไปเป็นโครโมโซมเทียมและจีโนมเทียมตามลำดับ ซึ่งทีมวิจัยคาดหวังให้จีโนมเทียมเป็นต้นแบบในการศึกษาทดลองทางวิทยาศาสตร์ว่ายีนและดีเอ็นเอทำงานอย่างไรในการกำกับ ควบคุมร่างกาย ตลอดจนสามารถนำมาใช้พิสูจน์ทฤษฎีใหม่ ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้ง่ายขึ้น จากเดิมที่การศึกษาด้านนี้ต้องอาศัยการดัดแปลงดีเอ็นเอจริงจากสิ่งมีชีวิต
ขณะที่ทีมวิจัยเองก็ได้ระบุว่า จะทดลองจีโนมสังเคราะห์นี้เฉพาะในหลอดหรือจานทดลองเท่านั้น โดยจะไม่มีการสังเคราะห์สิ่งมีชีวิตใหม่ขึ้นมา
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญด้านพันธุศาสตร์บางท่านได้ให้มุมมองว่า มีความเป็นไปได้ที่อาจมีการนำเทคโนโลยีนี้ไปใช้โดยขาดจริยธรรม หรือใช้เพื่อการค้า ขึ้นกับจริยธรรมของผู้ครอบครองเทคโนโลยี ที่อาจสร้างสรรค์ผลงานเพื่อส่วนรวมหรือเพื่อตนเองก็เป็นได้
อ้างอิง
การสร้าง "จีโนมมนุษย์เทียม" จะนำไปสู่ "มนุษย์เหนือมนุษย์" (superhuman) หรือไม่ - BBC News ไทย