ไม้สัก (Tectona grandis Linn. F.) เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ ผลัดใบในช่วงฤดูร้อน และเป็นไม้ที่มีมูลค่าสูงของประเทศไทย แต่มีปัญหาแมลงศัตรูทำลายเนื้อไม้ที่สำคัญคือผีเสื้อหนอนเจาะต้นสัก (Xyleutes ceramicus Walker) เนื้อไม้เกิดรูตำหนิ และมีคุณภาพลดลง ปัจจุบันยังคงพบการระบาดอยู่ในแถบจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง พะเยา แพร่ ตาก และกำแพงเพชร ซึ่งยังไม่มีวิธีที่เบ็ดเสร็จภายในขั้นตอนเดียว ต้องอาศัยวิธีการหลายๆ วิธีมาประยุกต์ใช้ร่วมกันเพื่อให้เกิดผลในการป้องกันกำจัดได้ดีที่สุด โครงการวิจัย “การใช้กับดักแสงไฟเพื่อลดปริมาณหนอนผีเสื้อเจาะต้นสักในสวนป่า” เป็นแนวทางหนึ่งที่คาดว่าจะสามารถช่วยลดการระบาดของหนอนผีเสื้อเจาะต้นสักได้จากการลดปริมาณของผีเสื้อตัวเต็มวัยซึ่งจะออกจากต้นสักราวเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายนของทุกปี จากการศึกษาพบว่าปริมาณตัวเต็มวัยเฉลี่ยต่อไร่ต่อปีในแปลงปลูกสักอายุน้อยมีมากที่สุด และมีปริมาณลดลงเมื่อไม้สักมีอายุมากขึ้น การศึกษานี้พบตัวเต็มวัยปริมาณมากในปีแรกของการศึกษาและพบน้อยในปีที่ 2 และ 3 แต่อย่างไรก็ตามในช่วงที่ทำการศึกษามีปริมาณตัวเต็มวัยเฉลี่ยต่อไร่ต่อปีค่อนข้างน้อย เฉลี่ยไม่เกิน 7 ตัวต่อไร่ต่อปี (พิจารณาจากจำนวนคราบในแปลงที่ไม่ติดตั้งกับดักแสงไฟ) ความสูงของรูเจาะออกใหม่หรือความสูงของคราบดักแด้บนต้นสัก อันแสดงถึงความเสียหายต่อเนื้อไม้ที่สามารถใช้เป็นสินค้า จากการศึกษาพบว่า ต้นสักอายุน้อยถูกเจาะทำลายที่ระดับต่ำโดยมีค่าเฉลี่ยไม่เกิน 3 เมตร และเมื่อสักอายุมากขึ้นผีเสื้อหนอนเจาะต้นสักจะเจาะเข้าไปในต้นสักที่ระดับสูงขึ้น จากข้อมูลนี้ การเฝ้าระวัง ป้องกัน และกำจัดผีเสื้อหนอนเจาะต้นสักควรเน้นดำเนินการในแปลงปลูกสักอายุน้อยๆ (1-10 ปี) อย่างเข้มข้น การศึกษานี้สามารถเก็บตัวเต็มวัยของผีเสื้อหนอนเจาะต้นสักด้วยกับดักแสงไฟสีม่วงได้น้อยมากเมื่อเทียบกับการศึกษาของ สุภโชติ (2534) การที่เก็บตัวเต็มวัยจากกับดักแสงไฟได้น้อยอาจมีสาเหตุหลายประการ เช่น ระยะเวลา 3 ปีที่ทำการศึกษา ตัวเต็มวัยของผีเสื้อหนอนเจาะต้นสักออกจากดักแด้น้อยเนื่องจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง (จากการสอบถามเจ้าหน้าที่ และปริมาณคราบของดักแด้ในแปลงไม่ติดตั้งกับดักแสงไฟ) ช่วงเวลาติดตั้งกับดักแสงไฟครอบคลุมคืนที่มีแสงจันทร์สว่างหลายคืน อาจมีผลต่อการตอบสนองของแสงต่อผีเสื้อฯ และช่วงเวลาสำรวจมีลมค่อนข้างแรง อาจเป็นอุสรรค์ต่อการบินของผีเสื้อฯ ซึ่งมีลำตัวขนาดใหญ่ การศึกษานี้ไม่สามารถบอกแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงปริมาณของผีเสื้อหนอนเจาะต้นสักหลังการใช้กับดักแสงไฟได้ชัดเจน เนื่องจากช่วงระยะเวลา 3 ปีที่ทำการศึกษามีตัวเต็มวัยของผีเสื้อหนอนเจาะต้นสักออกจากดักแด้น้อยกว่าที่ควรจะเป็น ทำให้จับตัวเต็มวัยได้น้อย หากมีการติดตั้งกับดักแสงไฟอย่างต่อเนื่อง (อย่างน้อย 5 ปี) อาจจับตัวเต็มวัยได้ปริมาณมากเช่นเดียวกับการศึกษาของ สุภโชติ (2534) ในปีถัดไปประชากรของผีเสื้อหนอนเจาะสักจะลดลง การใช้กับดักแสงไฟเหมาะกับแปลงปลูกสักอายุตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป และควรใช้ควบคู่ไปกับวิธีการอื่นคือการเดินเก็บตัวเต็มวัยที่เพิ่งออกจากดักแด้ในเวลากลางวัน ศึกษาเพิ่มเติมที https://research.nsm.or.th/research/259
standard
การใช้กับดักแสงไฟเพื่อลดปริมาณหนอนผีเสื้อเจาะต้นสักในสวนป่า อีกหนึ่งแนวทางที่คาดว่าจะสามารถช่วยลดการระบาดของหนอนผีเสื้อเจาะต้นสักได้
การใช้กับดักแสงไฟเพื่อลดปริมาณผีเสื้อหนอนเจาะต้นสักในสวนป่า
Expired date