aaaa
standard
ในช่วงนี้ หลาย ๆ คนคงจะเห็นกระแสการปลูกต้นไม้กันบ้างใช่ไหมคะ ซึ่งลักษณะพรรณไม้ประเภทหนึ่งที่ได้รับความนิยมอย่างมากในตอนนี้ก็คงจะหนีไม่พ้น ‘ ไม้ด่าง ’ อันเป็นที่ชื่นชอบของนักปลูกต้นไม้ทั้งหลาย แถมราคาก็ขยับสูงขึ้นเรื่อย ๆ อีกต่างหาก แต่เคยสงสัยหรือไม่ว่าทำไมต้นไม้ถึงเกิดใบด่าง? เรามาค้นหาความลับของต้นไม้ใบด่างกันค่ะ

โดยธรรมชาติ ต้นไม้ส่วนใหญ่จะมีใบสีเขียว แต่การเกิดสีด่าง มีทั้งด่างแบบเป็นจุด เป็นแถบลายสี ซึ่งเกิดจากการกระจายตัวของเม็ดสีในใบที่ไม่สม่ำเสมอกัน ดังนั้นไม้ใบด่างสามารถเกิดขึ้นได้เองตามธรรมชาติที่เป็นลักษณะปกติของสายพันธุ์ แต่อาจพบได้น้อย หรืออาจเกิดจากการกลายพันธุ์จากสารเคมี ทำให้ต้นไม้เกิดลักษณะใหม่ ๆ ขึ้นมา แต่ก็อาจมีบางส่วนที่เกิดจากโรค โดยจะมีไวรัสที่ทำให้เกิดอาการของโรคใบด่างในต้นไม้ เช่น Mosaic Virus ซึ่งไวรัสเข้าไปทำลายเนื้อเยื่อและทำให้บางส่วนของใบไม่มีการผลิตเม็ดสีหรือคลอโรฟิลด์ นอกจากนั้นยังมี Mottled Virus ที่ทำให้ใบไม้เกิดอาการด่างเป็นจุด ๆ และ Vascular Virus ที่ทำให้ใบไม้ด่างเฉพาะเส้นใย เป็นต้น ในบางครั้งโรคดังกล่าวก็ไม่ร้ายแรงมาก เพียงแค่ทำให้ต้นไม้เจริญเติบโตช้าเท่านั้น

จากความนิยมและความต้องการไม้ด่างที่เพิ่มมากขึ้น กระบวนการทางวิทยาศาสตร์จึงเข้ามามีบทบาทมากขึ้นด้วยเช่นกัน หนึ่งในวิธีการทางวิทยาศาสตร์ที่จะทำให้ต้นไม้เกิดการ ‘ด่าง’ คือ การทำให้เกิดการกลายพันธุ์หรือการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของยีน (Gene Mutation) ซึ่งสิ่งที่ใช้เหนี่ยวนำให้เกิดการกลายพันธุ์จะเรียกว่า “สิ่งก่อการกลายพันธุ์” (Mutagen) มีทั้งรังสีและสารเคมี โดยมีการค้นพบว่าการฉายรังสีแกมมา ซึ่งเป็นรังสีที่นิยมใช้ปรับปรุงพันธุ์พืชมากกว่ารังสีชนิดอื่น มีผลทำให้พืชเกิดใบด่าง แต่เปอร์เซ็นต์การเจริญเติบโตและการขยายพันธุ์ของพืชก็ลดลงเช่นกัน จากการวิจัยทดลองของ ผศ.ดร.เฌอมาลย์ วงศ์ชาวจันทร์ ภาควิชาพืชสวนคณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการปรับปรุงพันธุ์พืชกลุ่มไม้ดอกไม้ประดับและไม้วงศ์ไทร ด้วยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อร่วมกับการฉายรังสี สามารถพัฒนาไม้ด่างสายพันธุ์ใหม่ออกมาคือ‘ ต้นกร่างด่าง ’ ได้สำเร็จ ปรากฏว่าใบยังมีความสวยงามปกติและไม่กลายสีอีกด้วย

พอจะทราบกันแล้วใช่ไหมคะว่าทำไมราคาของต้นไม้ใบด่างถึงได้มีราคาสูง นอกจากโอกาสในการเกิดความด่างที่มีน้อยอยู่แล้ว พร้อมกับต้องคอยลุ้นว่าใบใหม่ที่แตกออกมาจะมีลักษณะใด ตลอดจนการดูแลที่มีขั้นตอนมากกว่าต้นไม้ธรรมดา จึงทำให้วงการเกษตรและนักปลูกต้นไม้ช่วงนี้มีความคึกคักกันอย่างมากเลยทีเดียวค่ะ

ผู้เขียน : ณัชชารีย์ คงสินสุขไพศาล
ความลับของไม้ใบด่าง
Expired date