ยาน SLIM ญี่ปุ่นผงาดลงดวงจันทร์ วันเดียวกับนาซาเรียกยาน Peregrine-1 กลับโลก
Publish date
21/01/2024
Image

จากปัญหาเชื้อเพลิง ทำให้ยาน Peregrine-1 สำรวจดวงจันทร์ภายใต้โครงการ CLPS ของนาซา ถูกเรียกกลับโลกด่วน สวนทางกลับยาน SLIM ของ JAXA ประเทศญี่ปุ่น มุ่งเป้าดวงจันทร์สำเร็จ ในวันเดียวกัน

1

           จากที่องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (NASA) ได้ปล่อยตัวยาน Peregrine-1 ผลิตโดยบริษัทเอกชน Astrobotic ไปกับจรวด Vulcan ของบริษัท ULA ภายใต้โครงการ Commercial Lunar Payload Service (CLPS) เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา เพื่อนำส่งอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ สำรวจธรณีวิทยา สนามแม่เหล็ก ชั้นบรรยากาศ รวมถึงการแผ่รังสีของสิ่งแวดล้อมบริเวณตอนกลางค่อนเหนือของดวงจันทร์ แต่ผ่านไปเพียง 10 วันหลังปล่อย ก็พบปัญหาเกี่ยวกับระบบเชื้อเพลิงรั่วไหลที่ต้องเร่งแก้ไขอย่างเร่งด่วน ทำให้ทีมงานต้องปรับให้จรวดเปลี่ยนเส้นทางและบินกลับมาที่โลกด่วน ในบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้ และเสียดสีกับชั้นบรรยากาศโลก เผาไหม้ไปทั้งหมด ในวันที่ 19 มกราคม 2567 ทำให้การส่งจรวดในภารกิจนี้เดินทางไปไม่ถึงดวงจันทร์

ยาน Peregrine-1
ยาน Peregrine-1

       

         แต่อีกภารกิจหนึ่งโดยองค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น (JAXA) ที่ส่งยาน SLIM (The Smart Lander for Investigating the Moon) ขึ้นไปตั้งแต่วันที่ 7 กันยายน 2566 เพื่อทดสอบความแม่นยำของเทคโนโลยีการลงจอดและทดลองใช้งานยานอวกาศขนาดเล็ก มีน้ำหนักเบา สูง 2 เมตร กว้าง 1.5 เมตร มีน้ำหนักรวม 120 กิโลกรัม บางเบาสมชื่อ Slim ที่จะทำให้ประหยัดทรัพยากรการขนส่งได้ในอนาคต โดยยาน SLIM ลงจอดบนดวงจันทร์ได้สำเร็จในวันเดียวกันกับที่นาซาเรียกยาน Peregrine กลับโลก ทำให้ญี่ปุ่นเป็นชาติที่ 5 ของโลก ที่ส่งยานไปถึงพื้นดวงจันทร์ แม้ยาน Peregrine-1 จะไปไม่ถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ แต่การนี้ทำให้นักวิจัยได้ถอดบทเรียน เรียนรู้ข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้น และนำบทสรุปที่ได้ไปปรับใช้กับการเดินทางครั้งต่อไป ให้มีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

ภาพจำลอง ยาน SLIM
ภาพจำลอง ยาน SLIM

 

ที่มาของแหล่งข้อมูล

https://nssdc.gsfc.nasa.gov/nmc/spacecraft/display.action?id=PEREGRN-1

https://www.isas.jaxa.jp/en/missions/spacecraft/current/slim.html

https://global.jaxa.jp/projects/sas/slim/
Created by
ณฐพรรณ พวงยะ นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ